วันนี้ (20 ธ.ค.2559) ไทยพีบีเอสจะพาไปย้อนรอยนักฟุตบอลไทยที่ได้ไปเล่นในลีกญี่ปุ่น หลังจาก ชนาธิป สรงกระสินธ์ กำลังจะเป็นนักฟุตบอลไทยคนแรกที่จะได้เล่นในระดับลีกสูงสุดของญี่ปุ่น หลังจากเมืองทอง ยูไนเต็ด และคอนซาโดล ซัปโปโร บรรลุข้อตกลง ด้วยสัญญายืมตัว 1 ปีครึ่ง โดยนักฟุตบอลไทยคนแรกที่ได้ไปโลดแล่นในฟุตบอลลีกของญี่ปุ่น คือโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล ที่ปัจจุบันเป็นประธานเทคนิคของสมาคมฟุตบอลฯ ซึ่งในปี 2519 ได้ถูกทาบทามให้ไปเล่นกับสโมสรยันมาร์ ดีเซล ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแบบกึ่งอาชีพ และช่วยทีมคว้าแชมป์ ควีนส์คัพ อีกทั้งยังคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลพร้อมยิงไป 14 ประตู ในลีก ก่อนจะย้ายไปเล่นลีกเยอรมนีกับ แฮร์ธา เบอร์ลิน และซาร์บรุ๊คเคน และปี 2529 จะกลับสู่ลีกญี่ปุ่นอีกครั้ง ในฐานะนักเตะของมัตซึชิตะ หรือกัมบะ โอซากะ ในปัจจุบัน
วรวรรณ ชิตวนิช และพิชัย คงศรี 2 นักฟุตบอลฝีเท้าเยี่ยมของทีมชาติไทยในยุคนั้น เคยย้ายไปร่วมทีม แทจิน มัตสึยาม่า ทีมในลีกกึ่งอาชีพของญี่ปุ่นในปี2528 แต่ฟุตบอลญี่ปุ่นสมัยก่อนที่เริ่มต้นจากการส่งทีมในเครือโรงงานอุตสาหกรรมลงแข่งขัน พวกเขาจึงต้องไปทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าประจำออฟฟิศด้วย
นที ทองสุขแก้ว เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้มีโอกาสไปค้าแข้งให้ มัตสึชิตะ หรือ กัมบะ โอซาก้า ในปัจจุบัน จากการชักชวนของวิทยา เลหากุล ในฐานะผู้จัดการทีม นอกจากนั้นก็มี รณชัย สยมชัย คนสุดท้ายที่ได้เล่นในเซมิโปรของญี่ปุ่นคือประเสริฐ ช้างมูล ที่ย้ายไปร่วมสโมสร คอสโม่ออย ยุคนี้เป็นยุคที่ลุกกระแสให้คนไทยติดตามฟุตบอลญี่ปุ่นได้อย่างมากทีเดียว
ขณะที่ อดุลย์ หละโสะ นักเตะทีมชาติไทยชุดแชมป์ซูซูกิคัพ 2 สมัย เคยย้ายไปร่วมทีม ไกนาเร่ ตอตโตริ ในปี 2551 จากการชักชวนของ วิทยา เลาหกุล ผู้จัดการทีม ถือเป็นนักฟุตบอลไทยคนแรกที่ไปเล่นเจลีกของญี่ปุ่น แม้จะเป็นระดับเจลีก 3 ก็ตาม โดยเล่นอยู่เพียง 2 ฤดูกาลก็ย้ายกลับมาสู่สโมสรเดิม คือชลบุรี เอฟซี