แม้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่างรู้เห็นพฤติกรรมกลุ่มคนที่นำศพมาเผาเพื่ออำพรางคดีมานานกว่า 10 ปี แต่สุสานเผานั่งยางบ้านคำบอนเวียงชัยเพิ่งจะถูกเปิดให้สังคมได้รับรู้จากการขยายผลคดีอุ้มฆ่า-เผานั่งยางนางบังอร ทองอ่อน นายทุนเงินกู้เมื่อปี 2557 ซึ่งหลังจากนั้นนำศพไปตรวจตรวจดีเอ็นเอกับลูกชายจนยืนยันได้ว่าเป็นนางบังอรจริง แต่คดีไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากขาดพยานบุคคลยืนยัน กระทั่งวันที่ 22 เม.ย.2559 ชุดคลี่คลายคดีได้ลงตรวจจุดเผานั่งยางอีกครั้งเพื่อหาพยานวัตถุเพิ่มเติม แต่กลับพบร่องรอยเผานั่งยางอีกว่า 20 จุดทั่ว
การรื้อฟื้นคดีนางบังอรที่ยาวนานกว่า 2 ปีตำรวจภูธรภาค 4 ได้ระดมมือสืบสวนลงพื้นที่แกะรอยจนพบว่ามีกลุ่มตำรวจ อดีตตำรวจและชาวบ้านอยู่ในขบวนการอุ้มฆ่าครั้งนี้ ต่อมามีการสั่งย้าย 3 นายตำรวจออกจากพื้นที่และเร่งสอบปากคำพยานบุคคลจนนำไปสู่การจับกุมนายบุญหนา ทองงาม และ ดาบตำรวจปราโมทย์ บุพศรี อดีตตำรวจภูธรอำเภอบ้านผือ และ น.ส.เกษร หรือ เกตุ ทองอุดร ซึ่งมีเพียงนายบุญหนา รับสารภาพในชั้นสอบสวน
ขณะที่การค้นพบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ในป่าบ้านคำบอนเวียงชัยกว่า 20 จุดทำให้มีญาติและครอบครัวมาแสดงความจำนงขอพิสูจน์ดีเอ็นเอกว่า 30 คน เนื่องจากเชื่อว่า ศพที่ถูกเผานั่งยางอาจเป็นคนในครอบครัวที่สูญหาย
ล่าผลการตรวจพิสูจน์ผลดีเอ็นเอระหว่างญาติผู้สูญหายที่ยื่นขอตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอกับชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ ที่ถูกตรวจพบจากจุดเผานั่งยางจุดที่ 8 ผลปรากฏว่าไม่ตรงกับผู้ใดส่วนชิ้นส่วนโครงกระดูกที่ค้นพบในจุดอื่น ๆ สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ไม่สามารถสกัดหาดีเอ็นเอได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ถูกความร้อนเผาทำลายจนไม่สามารถพิสูจน์ได้