แม้เพิ่งเกิดเหตุโศกนาฏกรรมอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร เส้นทางกรุงเทพฯ - จันทบุรี แต่บรรยากาศ บริเวณคิวรถตู้โดยสารเส้นทางดังกล่าว ยังคงมีผู้รอใช้บริการหนาแน่น
น.ส.หทัยชนก สิทธิวนิช ผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารกล่าวว่ารู้สึกกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนอยากจะเปลี่ยนแผนการเดินทางไปใช้รถ บขส.แทน แต่เห็นว่ารถตู้ยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ในแง่ความสะดวกรวดเร็ว
“ มีความคิดอยากจะเปลี่ยนครึ่งต่อครึ่งเลย คิดว่าถ้าไปทาง บขส.น่าจะปลอดภัยกว่า แต่อาจจะถึงช้ากว่าถ้าเป็นช่วงนี้”
คิวรถตู้ของบริษัท โรบินสัน ซึ่งเป็นต้นสังกัดของรถตู้คันเกิดเหตุ วันนี้มีผู้โดยสารรอใช้บริการบางตา แตกต่างจากวินรถตู้บริษัทอื่นๆ
นายมติพงษ์ มรรคผล พนักงานขับรถ เปิดเผยว่า ทุกคนกำลังเสียขวัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพนักงานขับรถที่เสียชีวิตถือเป็นคนขับรถอายุมากที่สุดของบริษัท พร้อมระบุว่าเขาเป็นพนักงานรับจ้างขับรถให้บริษัท ไป-กลับ กรุงเทพ-จันทรบุรี ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงต่อเที่ยว ได้เงินเที่ยวละ 500 บาท แตกต่างจากผู้เสียชีวิตที่เป็นเจ้าของรถเอง รายได้ค่าโดยสารจะเข้ากระเป๋าตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ที่เหลือแบ่งให้บริษัท ยิ่งช่วงเทศกาลเช่นนี้ผู้โดยสารจะมากขึ้น จึงมีโอกาสที่จะทำรอบมากขึ้น
“บางครั้งมี 2 ขาบ้าง 3 ขาบ้าง และถ้าคนเยอะก็จะมีเสริมขาที่ 4” นายมติพงษ์ กล่าว
นายมติพงษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทนี้มีพนักงานขับรถ 18 คน มีรถตู้ให้บริการ 18 คัน มีพนักงานขับรถสำรอง 1-2 คน สำหรับเรียกเข้ามาขับรถแทน กรณีคนขับรถในคิวที่จะออกวิ่งอยู่ในสภาพไม่พร้อมทำงาน แต่การตัดสินจะเรียกคนขับรถสำรองมาวิ่งให้บริการแทนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนขับรถหลัก ซึ่งบางคนอาจฝืนขับต่อไป เพราะรายได้ที่ได้รับในช่วงเทศกาล มากพอที่จะชดเชยรายได้จากช่วงปกติ ที่ผู้โดยสารน้อย หลังบริษัทได้รับผลกระทบจากการย้ายวินจอดที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ทั้งนี้ สถานีขนส่งหมอชิต มีบริษัทให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ เส้นทาง กรุงเทพ-จันทบุรี 4 บริษัท บริษัทโรบินสัน เป็นบริษัทที่มีรถให้บริการมากเป็นอันดับ 2 รองจากบริษัท โลตัส และอีก 2 บริษัท ให้บริการเดินรถประมาณ 7-9 คันต่อวัน
นายสมควร กำปนาทชัยกุล พนักงานขับรถบริษัทแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ตัวเองเป็นพนักงานขับรถสำรอง ที่ถูกเรียกเข้ามาขับรถแทนคนขับหลักของบริษัท โดยรับจ้างวิ่งรถไม่เกินวันละ 2-3 เที่ยว ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงปกติหรือเทศกาล เพื่อความปลอดภัย ประกอบกับค่าตอบแทนที่ได้รับก็ไม่แตกต่างกัน
“ผู้บริหารมองว่าถ้าคนขับขับหลายเที่ยวเขาก็จะเปลี่ยน เขาจะมีสำรองไว้ 4-5 คน อย่างผมก็เพิ่งมาขับ 2 วันช่วงปีใหม่ โดยเปลี่ยนให้คนเก่าพัก ช่วงนี้คนวิ่งมักจะไม่ได้พัก บางทีมาจอดก็ออกรถเลย ผู้บริหารจะเปลี่ยนพอ 3-4 วัน รู้ว่าคนนี้เหนื่อยก็จะเปลี่ยนคนมาขับแทน” นายสมควร กล่าว
มาตรฐานการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะ ถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่การบังคับใช้ต้องมีความเข้มข้นตามไปด้วย หากปล่อยให้ความโลภหรือความประมาทมาทำให้กฎระเบียบต่าง ๆ ย่อหย่อนลง ก็อาจเป็นหนทางนำไปสู่โศกนาฏกรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด