หลังจากถูก "ปักหมุด"เป็นสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย มาตั้งแต่ปี 2530 วันนี้ “เขาค้อ” จ.เพชรบูรณ์ สามารถเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 2 ล้านคนต่อปี จากเดิมที่มีตัว เลขเพียง 2 แสนคนต่อปี
อะไรคือจุดขายของเมืองแห่ง “ต้นค้อ” หากมีไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติบนเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่คุ้นหูของนักเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นพระตำหนักเขาค้อ ภูทับเบิก อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ทุ่งแสลงหลวง ภูลมโล ดินแดนแห่งซากุระเมืองไทย และวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้ว อนาคต “เขาค้อ” ควรเติบโตอย่างไรและหาอะไรมาเป็นจุดขายสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
คำตอบนี้ ถูกจุดประกายขึ้นจากกลุ่มนักวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับ สนุนการวิจัย หรือ สกว. โดยมี รศ.ดร. จิรวัฒน์ พีระสันต์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวรจังหวัดพิษณุ โลก ที่มีมุมมองการท่องเที่ยวที่ต่างออกไปภาพเดิม แต่ต้องการสร้างความแตกต่าง และทางเลือกใหม่ที่เรียกว่าการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ และไม่หยุดเพียงแค่นั้นเพราะยังเน้นความโดดเด่นด้วยการจับเอานวัตกรรมทางด้านศิลปะในการจัด การท่องเที่ยวรูปแบบวัฒนธรรมประ เพณี วันนี้ทีมข่าว ได้ร่วมเดินทางตามรอย Route 12 ภูหินร่องกล้า-ภูทับเบิก-เขาค้อ ที่แสนคดเคี้ยวผ่านพื้นที่ 3 จังหวัดคือพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ระยะทางกว่า 350 กิโลเมตร
แลนด์อาร์ต-สตอรว์เบอรี่เขาวงกต
พื้นที่ 3 ไร่ ที่ล้อมรอบด้วยหุบเขาแห่งนี้ถูกเนรมิตให้เป็นดินแดนแห่ง "เขาวงกต" เป็น การออกแบบนวัตกรรมการ เกษตรในแปลงสตอรว์เบอรี่ แห่งแรกของไทย สุทธิพงค์ พลสยม เจ้าของบ้านไร่ไออุ่น บ้านดอกจำปี ต.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ บอกถึงแนว คิดว่า แบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงผัก 1 ไร่ ครึ่งมีผล ผลิตประเภทผักสลัด ผักกาดขาว และผักสวนครัว ส่วนอีก 1 ไร่ครึ่งทำเป็นเขาวงกตรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 10 แถว การออกแบบเป็นเขาวงกต เพราะต้องการเพิ่มความรู้ และสร้างความเพลิดเพลินในกิจกรรมท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจะมีความรู้ถึงสายพันธุ์พระราชทานที่นำมาปลูก การใช้ถุงไล่แมลง และใช้การปลูกแบบชีววิถีมาจัดการแปลง ทำ ให้สตอว์เบอรี่ของไร่นี้ จึงกรอบอร่อย เพราะปลูกแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม และใส่ใจต่อผู้บริโภคตามแนวทางคือ" 3 ลด" ลดโลกร้อน ลดสารเคมี และลดต้นทุน ผู้บริโภคจึงได้ทั้งความรู้กลับไป และมีความปลอดภัยในการบริโภค
"ศาสตร์พระราชา" กุญแจความสำเร็จ
จากหนุ่มวิศวกรเมืองกรุง ที่ยอมละทิ้งความเจริญมุ่งเดินหน้าตามรอยเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาล 9 มาประยุกต์ใช้ ผ่านมา 2 ปีบ้านไร่ไออุ่นแห่งนี้ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และติดชื่อการท่องเที่ยว สินค้าที่ติดติดตลาดระดับพรีเมียม ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก
"ผมซาบซึ้งต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคำสอนของพระองค์ท่านเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต เดิมผมเป็นวิศวกร มนุษย์เงินเดือนแต่ผมไม่มีเวลาสร้างครอบครัว เลยคิดว่าอยากมองความยั่งยืนเลยหันมาทำอาชีพเกษตร ที่หลายคนมองข้ามและบอกว่าไม่สร้างรายได้และจะอยู่ความยั่งยืน แต่เมื่อได้ศึกษา และลงมือทำโดยยึดหลักเศรษฐ กิจพอเพียงของในหลวง มาประยุกต์ใช้ มุ่งเน้นว่าทำตามกำลังที่มี สิ่งที่ทำรู้แจ้งเห็นชัด และค่อยๆ เดินทีละก้าว และทำเกษตรอินทรีย์เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน" สุทธิพงษ์ บอก
เช่นเดียวกับแนวทางของ ณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ เจ้าของธุรกิจรีสอร์ท เรนฟอเรสท์ ฟาร์ม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เขาบอกว่า ก่อนหน้าเมื่อ 7 ปีก่อน มีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อเยียวยาร่างกายหลังประสบอุบัติเหตุจนเกือบพิการ
จุดเปลี่ยนจากคนทำงาน ที่ชีวิตพลิกผันมาเป็นเกษตรกร เพราะคำสอนของในหลวงในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากวันนั้นจนถึง 7 ปี เขาเลยปรับชีวิตใหม่ หันมาบริหารธุรกิจ ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเอง ลดรายจ่าย จัดการของเสีย ผลิตอาหารปลอดภัย ใช้พลังงานทดแทน และสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในนามชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก
หากใครไปเยือน “ฟอเรสท์ ฟาร์ม” จึงเห็นความต่าง พื้นที่ 7 ไร่ริมแม่น้ำเข็กกลายเป็นสวนผสมผสานของป่าปลูกและป่าที่กินได้ ภายใต้หลัก ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมีทั้งไม้ผลกว่า 40 ชนิดพืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ เจ้าของสำรวจว่าพื้นที่ไหนที่ดินไม่ดี ปลูกผัก ผลไม้ไม่ขึ้น จะใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นฟาร์มเลี้ยงหมูหลุม เลียงไก่ไข่ โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ ตั้งแต่ทางเข้าที่ทำเป็นอุโมงค์พืชผัก ที่สามารถกินได้ตามฤดูกาล อย่างช่วงฤดูนี้ จะเห็นทั้งแก้วมังกร ผักบุ้ง มะนาว พืชผักสมุนไพร ผักบุ้ง รวมทั้งดอกสร้อยสยาม ไม้ดอกที่มีเพียงแห่งเดียวของพิษณุโลก
เขา บอกว่า การใช้หลักการพึ่งพาตัวเอง ทำให้ลดรายจ่ายลงถึง 2 เท่าเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายที่ใช้ในรีสอร์ท และการดูแลบ้านพัก แต่เหนืออื่นใด ที่ได้กลับมาคือสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวได้เรียนกระบวนการรู้สิ่งแวดล้อม และได้ลงมือปฏิบัติในการในการดูแลทรัพยากร เช่นการเก็บขยะในลำน้ำเข็ก และโครงการใหม่ที่เพิ่งเริ่มคือ โตไปด้วยกัน ซึ่งให้นักท่องเที่ยวร่วมปลูกต้นไม้ และดูแลต้นไม้ที่ปลูกนำร่องแล้ว 557 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
ดึงนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพลดปัญหาสวล.
ในมุมมองของ พิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ยอมรับว่า แต่ละปี เขาค้อและภูทับเบิก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประมาณ 2 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 10,000 คน ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวคนไทยเกือบ 2 ล้านคน โดยเฉพาะช่วงฤดู กาล และวันหยุดจะมีมากเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัดเพชร บูรณ์ มีนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเข้ามาใช้ประโยชน์ในบนพื้นที่สูง และขาดการดูแลเชิงคุณภาพ
"ตอนนี้กำลังจัดทำแผนประชาสัมพัน์ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวช่วงกลางสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ไม่แออัด และกระจายตัวมากขึ้น ผ่านโครงการ Route 12 เพชรบูรณ์ ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์ทั้งจังหวัดแล้ว เชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆของจังหวัดใกล้เคียงด้วย ในอนาคตมีแนวโน้มที่จำ นวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องจัดระบบให้เกิดการท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นความสะอาด ความสะดวก และความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความประทับนำไปบอกต่อหรือกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง"
การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เส้นทางหมายเลข 12 ตามรอยศาสตร์พระราชา จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใหม่