วันนี้ (20 ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานยว่า ข้อมูลจากเอกสารที่เปิดเผยโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริการะบุว่า เดือนมกราคม 2546 บริษัท โรลส์รอยซ์ ประสบความสำเร็จในการล็อคสัญญาโครงการ GSP-5 หลังจากที่จ่ายสินบนให้แก่คนกลาง คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 7.5 ของราคาสัญญา ซึ่งในจำนวนนี้เงินร้อยละ 1 เป็นค่าดำเนินการของบริษัทนายหน้า ส่วนที่เหลือคือเงินที่จะจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ ปตท.
ต่อมาบริษัท โรลส์รอยซ์ ออกระเบียบบริษัทใหม่ กำหนดให้การจ่ายค่านายหน้าให้แก่บริษัทที่ปรึกษาบุคคลที่ 3 ที่มีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 5 ของราคาสัญญา จะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูง ซึ่งขณะนั้นได้เริ่มเปิดการประมูลไปแล้ว แต่ก็ยังยืนยันค่านายหน้าที่ร้อยละ 6.5 ของราคาสัญญา ดังนั้นตั้งแต่ปี 2546-2555 บริษัท โรลส์รอยซ์ มีการจ่ายเงินค่านายหน้า มายังบัญชีของคนกลางในประเทศไทยและสิงคโปร์ ผ่านบัญชีต้นทางที่เมานท์ เวอร์นอน ในรัฐโอไฮโอของสหรัฐฯ
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตรวจสอบพบ 6 โครงการ ระหว่างปี 2546 – 2555
วันที่ 24 ก.ค.2546 - 16 พ.ย.2547 จ่ายสินบน 2.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน โครงการ GSP-5
วันที่ 19 ม.ค.2549 - 24 ม.ค.2551 จ่ายสินบน 1.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน โครงการ OCS3
วันที่ 19 ม.ค.2549 - 18 ม.ค.2551 จ่ายสินบน 1.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน โครงการ PTT Arthit
วันที่ 29 ก.ย.2549 - 11 ก.ย.2551 จ่ายสินบน 2.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน โครงการ PCS
วันที่ 24 พ.ค.2550 - 18 ก.พ.2556 จ่ายสินบน 1.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน โครงการ ESP-PTT
วันที่ 28 มี.ค.2551 - 13 พ.ย.2552 จ่ายสินบน 2.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน โครงการ GSP-6
โครงการส่วนใหญ่เป็นโรงอัดแยกก๊าซ ปตท.มีการขยายโครงการอย่างต่อเนื่องในอดีต รวมไปถึงโครงการขยายระบบท่อก๊าซในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งมีการใช้เครื่องยนต์คอมเพรสเซอร์บีบอัดก๊าซมีมูลค่ามหาศาล อาทิ โครงการ จีพีเอส 5 โรงแยกก๊าซที่ระยอง มีมูลค่าการลงทุนสูง 250 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจว่ามีการกล่าวว่าจ่ายสินบนสูงถึง 2.49 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อนำช่วงเวลาที่ถูกระบุว่าบริษัท โรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนให้กับ ปตท. พบว่ามีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ปี 2546 - 2554 และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ปี 2554-2558
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท คนปัจจุบัน ระบุว่าได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์รอยซ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท ภายใน 30 วัน
ขณะที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน แสดงความเห็นว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของ ปตท.ควรตั้งที่สังคมเชื่อถือ และเป็นคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีประโยชน์ทับซ้อนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ตามรอยอดีตรัฐมนตรีช่วยฯ พบตัวแทนโรลส์รอยซ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปลายปี 2004 หรือ 2547 ในการสั่งซื้อเครื่องยนต์เทรนท์ 800 ของบริษัท โรลส์รอยซ์ นายหน้าคนกลางของบริษัท โรลส์รอยซ์ มีจดหมายภายในของบริษัท โรลส์รอยซ์ ระบุว่า การสั่งเครื่องยนต์จากไทยได้รับการพิจารณาแล้ว แต่คนกลางต้องหาเงินชำระค่าคอมมิชชั่นครึ่งหนึ่งของการสั่งเทรนท์ 800 ในวันที่ 17 ธ.ค. 2547 นายหน้าคนกลางได้รับประทานอาหารค่ำกับรัฐมนตรีช่วยของไทยและมีการตัดสินใจอย่างทันทีทันใด ตามคำร้องขอของนายหน้าคนกลางดังกล่าว
หากพุ่งเป้าไปที่ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ตามการให้การของเจ้าหน้าที่บริษัท โรลส์รอยซ์ เมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังว่ามีรัฐมนตรีช่วยคนใดที่เข้าข่ายบ้าง ข้อมูลเว็ปไซด์ รัฐบาลไทย หรือ www.thaigov.go.th ระบุรายชื่อคณะรัฐมนตรีคณะที่ 54 ดำรงแหน่ง วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 -11 มีนาคม 2548 โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีทั้งสิ้น 37 คน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างๆ 9 คน ประกอบด้วย
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายสุธรรม แสงประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายสุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ผู้สื่อข่าวไทยพีเอสติดต่อไปยังนายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งไม่ได้รับผิดชอบงานด้านการขนส่งทางอากาศ จึงไม่เคยพบปะพุดคุยกับตัวแทนบริษัท โรลส์รอยซ์ และรัฐมนตรีในยุคนั้น ไม่ได้พูดคุยกันถึงการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องอดีตนานมากแล้ว
ขณะที่นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายวรเทพ เทพรัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทยไม่สามารถติดต่อได้
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และต่อมาปรับคณะรัฐมนตรี ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในปีนั้น เป็นบุคคลเดียวใน ครม. ที่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินเพียงบางส่วน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ก่อนถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ทั้งทางแพ่งและอาญา ในคดีรถเรือดังเพลิงของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีคดี
ขณะที่แหล่งข่าวด้านวิศวกรรมอากาศยานและเครื่องยนต์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่า กรณีบริษัท โรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนให้กับนายหน้าขายเครื่องยนต์เครื่องบินให้กับบริษัทการบินไทย เป็นกลยุทธ์การตลาดของบริษัทที่ต้องการเปิดตลาดในเอเชียมากขึ้น โดยมีการตั้งศูนย์ซ่อมใหญ่เพื่อรองรับที่ประเทศสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า เครื่องยนต์เครื่องบินที่ใช้ในปัจจุบัน มี 3-4 ยี่ห้อที่นิยมใช้ ซึ่งมีสมรรถนะที่ใช้ใกล้เคียงกัน แตกต่างกันที่ราคา เพราะขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาและบริการหลังการขาย