วันนี้ (27 ม.ค.2560) ชาวไทยเชื้อสายจีนต่างพาครอบครัวมากราบไหว้เทพปึงเถ่ากง ปึงเถ่าม่า และไหว้บรรพบุรุษ ที่ศาลพระหลักเมือง ภายในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์กันจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัวให้ค้าขายร่ำรวยและธุรกิจเจริญก้าวหน้า
ขณะเดียวกันเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ยังได้ประดับประดาโคมแดงกว่า 500 ใบ รอบบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและถนนหลายสายภายในเขตเทศบาล เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน
ส่วนที่ศาลเจ้าพุทธก๋ง จ.อุบลราชธานี คนไทยเชื้อสายจีนและเชื้อสายเวียดนาม นำบุตรหลานพร้อมเครื่องไหว้ที่มีความหมายเป็นศิริมงคลมากราบไหว้เทพเจ้าประจำศาลเจ้า โดยผู้มาไหว้ส่วนใหญ่แต่งกายชุดสีแดง ซึ่งมีความหมายถึงความสดใส มีโชคลาภ เนื่องในวันตรุษจีน
เช่นเดียวกับบรรยากาศที่ศาลเจ้าปู่-ย่า จ.อุดรธานี มีประชาชนจำนวนมากทั้งในจังหวัดและใกล้เคียง ต่างนำเครื่องไหว้มากราบไหว้องค์เจ้าปู่-เจ้าย่า ที่เป็นที่เคารพสักการะของคนไทยเชื้อสายจีน เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งประกอบพิธีแก้ชง ให้สำหรับผู้ที่เกิดปีชงในปีนี้เพื่อให้มีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาตลอดทั้งปี 2560
จ.ลำปาง ชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากเดินทางไปที่ศาลเจ้าต่างๆ โดยเฉพาะที่ศาลเจ้าปุ้งเถ้ากง และศาลเจ้าแม่ทับทิม ต.สวนดอก อ.เมืองลำปาง เพื่อกราบไหว้และขอพรให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้ครอบครัว และหน้าที่การงาน ประสบความสำเร็จกิจการเจริญรุ่งเรืองในช่วงเทศกาลตรุษจีน
จ.กำแพงเพชร ชาวไทยเชื้อสายจีนเดินทางไปที่ศาลเจ้าหลักเมือง พร้อมนำสิ่งของไหว้เจ้า เช่น หมูไก่ และกระดาษเงินกระดาษทอง ไปไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน เพื่อขอพรตามความเชื่อและปฏิบัติตามประเพณีที่ชาวจีนยึดถือมาหลายพันปี
จ.นครสวรรค์ น่าน ตาก และพิษณุโลก ตั้งแต่เช้าตรู่ชาวไทยเชื้อสายจีน ต่างตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้าตามบ้านเรือนและศาลเจ้าต่างๆ พร้อมไว้เทพเจ้าตามความเชื่อ เพื่อให้ความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว รวมถึงขอให้หน้าที่การงานและกิจการเจริญรุ่งเรือง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการจุดไฟเผากระดาษช่วงตรุษจีน เพราะอาจเกิดไฟไหม้ได้
ชาวชุมชนบึงขุนทะเลเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ตั้งโต๊ะบูชาของคาวหวาน ตามความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน บริเวณหน้าบ้านและหน้าร้านของตัวเอง ที่ถือปฏิบัติมาเป็นเวลายาวนาน เพื่อการกราบไหว้สิ่งศักดิ์ที่คนจีนนับถือ ซึ่งที่ชุมชนบึงขุนทะเลแห่งนี้ มีประชาชนไหว้ตรุษจีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีธุรกิจขนาดเล็กเกิดเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของชุมชน โดยได้ตั้งโต๊ะบูชาเจ้าพ่อบึงขุนทะเล เจ้าที่เจ้าทาง ที่คอยปกปักรักษา ชาวขุนทะเลมาเป็นเวลายาวนาน
ส่วนอีกโต๊ะก็ตั้งเพื่อบูชาเทพเจ้าต่างๆที่ชาวจีนนับถือ เพื่อเป็นศิริมงคล ให้ตัวเองและครอบครัว และให้ประกอบอาชีพเจริญรุ่งเรืองสืบไป ถือเป็นความเชื่อที่คนไทยเชื้อสายจีนใน จ.สุราษฎร์ธานี ถือปฏิบัติอย่างเรียบง่ายมาเป็นเวลายาวนาน
ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงตรุษจีน 2560
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า จะมีเงินสะพัดถึง 54,927.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน และนับเป็นจำนวนเงินที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อปี 2550 โดยประชาชนจะมีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 38
นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้คนละเกือบ 4,000 บาท ไปทำบุญ 2,000 บาท ให้แต๊ะเอียประมาณ 4,000 บาท ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 2,600 บาทขึ้นไป จัดเลี้ยงสังสรรค์ 4,000 บาท และการเดินทางท่องเที่ยวกว่า 10,000 บาท
ซึ่งเงินสะพัดที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากประชาชนใน กทม. ภาคกลาง และภาคตะวันออก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นและการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น
ส่วนเหตุผลที่เงินสะพัดเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่ามีจำนวน 257,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศ 12,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.87 จากปีก่อน และทำรายได้เพิ่มขึ้นจากตรุษจีนปีที่แล้วถึงร้อยละ 13
ส่วนแหล่งท่องเที่ยวช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ได้รับความนิยมในเขต กทม.คือ ศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาว ใกล้เสาชิงช้า วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)
ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ศาลเจ้าเก่าแก่กลางซอยเยาวราช 6 ศาลเจ้าพ่อกวนอู ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในชุมชนสมเด็จย่าใกล้กับสวนสมเด็จย่า และวัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์