แม้วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลับไปทบทวนเนื้อหาในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาโครงการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ตีกลับไป และพบว่ามีจุดบกพร่องที่ต้องทบทวนเนื้อหารายงานเพิ่มเติม 17 ประเด็นใหญ่ 143 ประเด็นย่อยนั้น
ทีมเว็บข่าวออนไลน์ไทยพีบีเอส ยังตรวจสอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ. กระบี่ โดยบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอจิเนียริ่ง อนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษารายงานสิ่งแวดล้อม และทาง กฟผ.ได้ได้เสนอรายงานมาที่สผ. วันที่ 17 ธ.ค.2557 จากนั้นมีการบรรจุเข้าพิจารณาใน คชก. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2558 แต่ คชก.มีมติให้กฟผ.ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดในการโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว
พบรายงาน EIA บกพร่อง 12 ประเด็น 160 ข้อย่อย
จากการตรวจสอบพบว่า วันที่ 18 มี.ค.2558 คชก.โดยนางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผอ.สำนักวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มีหนังสือแจ้งมติประชุมส่งกลับไปยัง กฟผ. โดยให้กฟผ.ปรับปรุงและเพิ่มเติมรายละเอียดในการโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว รวม 12 ประเด็นใหญ่ 160 ประเด็นย่อย รวมเอกสารจำนวน 16 หน้า และสถานภาพในปัจจุบัน คือยังไม่มีการส่งรายงานเพิ่มเติมมาที่สผ.
สำหรับ 12 ประเด็นหลักที่ถูกกตั้งคำถามจาก คชก.มากที่สุดได้แก่ ประเด็นข้อที่ 6 ด้านการจัดการน้ำทิ้ง และการระบายน้ำ มีจำนวน 25 ข้อย่อย เช่นการประเมินว่าโครงการขวางการระบายน้ำตามธรรมชาติหรือไม่ ผลกระทบจากน้ำทะเลท่วมถึง อาคารเก็บถ่านหินสำรองขนาด 50,000 ตัน โดยใช้น้ำรดกองถ่านหินวันละ 90 ลบ.ม.
ประเด็นรองลงมาคือข้อ 4 ด้านสัณฐานวิทยาชายฝั่ง สมุทรศาสตร์ และการแพร่กระจายของตะกิน จำนวน 24 ประเด็นย่อย เช่น แสดงระดับความลึกของร่องน้ำบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ และแนวเส้นทางเดินเรือ ตั้งแต่ปากร่องน้ำลึกศรีบอยา จ.กระบี่ จนถึงบริเวณท่าเทียบเรือ ทบทวนความลาดชันและกำแพงป้องกันการกัดเซาะ ผลการเทียบแบบจำลอง และข้อมูลการวัดทุ่นสมุทรศาสตร์ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและการประเมินกรณีเกิดธรณีพิบัติภัย หรือสึนามิ
ระบุผ่าใจกลาง “แรมซาไซต์ปากแม่น้ำกระบี่” พท.ชุ่มน้ำโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในประเด็นที่ 1 คือด้านรายละเอียดโครงการ มี 19 ประเด็นย่อย เช่น ให้พิจารณาตรวจสอบว่ากิจกรรมโครงการท่าเทียบเรือขัดต่อร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อ.อ่าวลึก อ.เมืองกระบี่ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ หรือไม่ เนื่องจากร่างฉบับนี้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการแล้ว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซ่าไซต์ รวมทั้งให้สรุปทางเลือกวิธีการก่อสร้างระบบลำเลียงถ่านหิน และแสดงวิธีการก่อสร้าง การใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวสายพานลำเลียงถ่านหินพาดผ่าน ให้เพิ่มเติมรายละเอียดกำแพงป้องกันการกัดเซาะความชัดเจนในวิธีการลำเลียงถ่านหิน ระยะเวลาเทกองถ่านหินและให้คำนึงถึงการลุกติดไฟได้เอง เป็นต้น
ส่วนประเด็นอื่นๆ ได้แก่ ด้านผลกระทบจากอุโมงค์ และแนวสายพานลำเลีเยงขนถ่ายถ่านหิน จำนวน 8 ประเด็นย่อย ประเด็นด้านโครงสร้าง 7 ข้อย่อย ประเด็นด้านคุณภาพอากาศและเสียง และความสั่นสะเทือน 6 ข้อ ประเด็นด้านทรัพยากรชีวภาพ 7 ข้อย่อย ด้านการคมนาคม 13ข้อย่อย และประเด็นด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย 14 ข้อย่อย ประเด็นด้านสังคม เศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 20 ข้อย่อย เนื่องจากกฟผ.เปลี่ยนจากการขนถ่ายถ่านหินโดยเรือ 50,000-100,000 ตัน ขนถ่ายลงเรือ 3,000 ตัน เพื่อไม่ต้องขนถ่ายทางทะเล
ขั้นตอนการทำ EHIA โครงการรัฐไม่มีกรอบเวลา
ก่อนหน้านี้ นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสผ. ระบุว่า ขณะนี้มีโครงการที่ต้องเข้าข่ายจัดทำรายงาน EIA จำนวน 35 ประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรคสอง และประกาศกระทรวงทรัพย์ฯ กำหนดให้ต้องจัดทำ EHIA โครงการ 11 ประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากเจ้าของโครงการ เสนอเข้าพิจารณาในคชก. แล้ว หากคชก.เห็นชอบ จะส่งให้คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบและส่งกลับมายัง สผ. เพื่อเสนอพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในกรณีโครงการพัฒนาของรัฐ จะไม่มีกำหนดกรอบระยะเวลาพิจารณา