วันนี้ (8 มี.ค.2560) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน จัดเวทีเสวนา "นับถอยหลัง EIA และEHIA ชี้ชะตาอนาคตใต้ เมกะโปรเจกต์มัดมือชกประชาชน" มีนักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านจากโครงการท่าเรือปากบรารา จ.สตูล โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เข้ารับฟังจำนวนมาก
พบปากท่าเรือบาราใช้งบศึกษากว่า 1,000 ล้านบาท
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้งบศึกษามากที่สุดกว่า 1,000 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2559 ล่าสุดรัฐบาล คสช. ที่เพิ่งให้งบอีก 120 ล้านบาทศึกษา EHIA โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา และอีก 50 ล้านบาทให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจรทางบก หรือ สนข. ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแล้วล้อม ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์หรือSEA ต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทั้ง 3 เส้นทาง คือ ตอนบนที่ชุมพรกับระนอง ตอนกลางที่นครศรีธรรมราชกับกระบี่ และตอนล่างที่สงขลาและสตูล ซึ่งขณะที่ได้ทำกระบวนการศึกษาเสร็จไปแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน ซึ่งชัดเจนว่าภาคใต้กำลังจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนักจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน
นายสมบูรณ์ บอกว่า รู้สึกกังวลต่อการจัดเวที ค 1 วันที่ 16 มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นกระบวนการรับฟังความเห็นในขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล หากยังมีการจัดเวทีรับฟังครั้งนี้ เชื่อาจจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาขนาดใหญ่ที่ขาดการมีส่วนร่วม และเสนอให้ปฏิรูปเครื่องมือกระบวนการสิ่งแวดล้อม
ชี้อุตสาหกรรมหนักเพิ่มไฟในภาคใต้-ขัดแย้งแรง
ขณะที่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา บอกว่า พื้นที่ภาคใต้กำลังเป็นระยอง 2 เพราะรัฐบาลจะใช้อุตสาหกรรมไปดับไฟใต้ ซึ่งเชื่อว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะแทบทุกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ถูกวางแผนพัฒนาจากส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งท่าเรือน้ำลึกสงขลาบ้านสวนกง จ.สงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบาลา จ.สตูล โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา โรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งมีขนาดใหญ่ 2300 เมกกะวัตต์ จึงตั้งข้อสังเกตว่ากำลังผลิตไฟฟ้ามาก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนักหรือไม่
"สรุปว่าโครงการพัฒนาในภาคใต้ ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมที่หลายเวทีเป็นแบบของเทียม เพราะเกณฑ์คน แจกเงินแจกของ กระบวนการทำรายงานสิ่งแวดล้อมที่ยังขาดความน่าเชื่อถือ และโครงการพัฒนาไม่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรของพื้นที่และวิถีชุมชน จนทำให้ที่ชาวบ้านทุกพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาไปลงตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ คนออกมาต้านทุกโครงการ จึงเสนอว่ารัฐบาลต้องปรับรูปแบบของการมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมที่อยากให้ไปดับไฟใต้ กลายเป็นเพิ่มปัญหาไฟใต้" นพ.สุภัทร ระบุ
เผยสถิติ137 กิจกรรมมีส่วนร่วมถูกปิดกั้น
ส่วนนายณัชปกร นามเมือง จากกลุ่ม I Law สะท้อนว่า ภายใต้รัฐบาลทหาร..กระบวนการมีส่วนร่วมยังไม่เกิดขึ้นจริงทั้งในระดับพื้นที่ และระดับบุคคล ซึ่งรวมได้จากสถิติที่เกิดขึ้น นับแต่การรัฐประหารในปี 2559 กล่าวคือ 137 กิจ กรรมที่ถูกปิดกั้น-แทรกแซง 925 จำนวนคนที่ถูกเรียกรายงานตัวจนถึงเดือนม.ค.2560 และ 590 คนที่ถูกจับ กุมคุมขังจากการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งถือเป็นผลกระทบจากการใช้อำนาจของรัฐบาลกับประชาชน
ส่วนนายสนธิ คชวัฒน์ อดีตผอ.กองวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อมหรือสผ. เสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำรายงาน EIA และEHIA ใหม่