วันนี้ (14 มี.ค.2560) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากกรณีปลาจำนวนมากที่ลอยตายเกลื่อนภายในคลองระบายน้ำ ริมถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ
ล่าสุดได้นำปลาที่ตายไปฝังกลบแล้ว พร้อมสั่งให้สำนักการอนามัย สำนักการระบายน้ำ ตรวจสอบคุณภาพน้ำและสาเหตุการตายของปลา ซึ่งจากผลตรวจคุณภาพน้ำเบื้องต้น พบค่า Do หรือ ปริมาณออกซิเจนในน้ำอยู่ที่ 0.04 มิลลิกรัมต่อลิตรต่ำกว่าค่ามาตรฐานประกอบกับอากาศที่ร้อนทำให้อุณหภูมิในน้ำสูงถึง 32 องศาเซลเซียส และพบว่าค่าแอมโมเนียในน้ำสูงถึง 16.4 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งในค่าปกติจะสูงไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งคาดว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาตาย
สำหรับแอมโมเนียที่ตรวจพบเกิดจากไขมันที่สะสมในน้ำปริมาณมากคาดว่า เกิดจากบ้านเรือนที่ปล่อยน้ำเสียลงมาและในช่วงฤดูร้อนทำให้การปล่อยน้ำจากกรมชลประทานปล่อยลงมาไม่เพียงพอต่อการไล่น้ำเสียออกไปจึงเห็นได้ว่าระดับน้ำในคลองมีน้อยและน้ำนิ่ง ไม่เกิดการไหลเวียนของน้ำตามระบบนิเวศน์ โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการปิดประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำในช่วงพายุฤดูร้อน
นอกจากนี้ ยังสั่งการให้สำนักงานเขตในพื้นที่ลงตรวจหาการปิดท่อระบายน้ำ ซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำไม่ไหลเวียน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่า การวางเสาแข็ม หรือ ตอม่ออาจปิดทับท่อระบายน้ำได้แต่จากการตรวจสอบในพื่นที่เกิดเหตุไม่พบการปิดทับท่อระบายน้ำ แต่ยังคงตรวจสอบในจุดอื่นเพิ่มเติมเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงและจากการตั้งข้อสันนิษฐานทั้งหมด สาเหตุหลักน่าจะมาจากค่าแอมโมเนียหรือไขมันสะสมในคลองสูงกว่าปกติ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนงดการปล่อยน้ำเสียลงมาคลองช่วงฤดูแล้ง
ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร มีแผนนำข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร ปี 2547 มาใช้ดำเนินการ จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ครัวเรือนละ 30 บาทต่อเดือน ตามชุมชนที่ยังไม่มีโรงบำบัดน้ำเสีย โดยทั่วกรุงเทพมหานครมีเพียง 8 โรงเท่านั้น ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต่องการบำบัดน้ำเสียทั่วกรุงเทพ แต่หลังจากนี้ กทม. จะก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียขึ้นอีก 4 โรง และตั้งเป้าร้อยละ 50 ของพื้นที่ กทม.ต้องมีโรงบำบัดน้ำเสียถึง 27 โรง และหากก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย จุดใดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะยกเลิกการจัดเก็บค่าขยะ