วันนี้ (23 มี.ค.2560) พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ระบุถึงเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังผาเมือง ใช้อาวุธป้องกันตัวระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด เป็นเหตุให้นายชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ เสียชีวิต ว่า ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว โดยพบพฤติกรรมนายชัยภูมิ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติด โดยมีหลักฐานการโอนเงินมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่านายชัยภูมิจะเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนที่ดีแต่อาจมีความจำเป็นด้านการเงินจึงทำให้หลงผิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
แม่ทัพภาคที่ 3 กำชับให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของกองทัพภาคที่ 3 ที่ผู้บัญชาการทหารบกสั่งการให้ตั้งขึ้นดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา เป็นกลาง และให้หน่วยเกี่ยวข้องดูแลเยียวยาครอบครัวนายชัยภูมิอย่างเหมาะสม โดยขอให้เจ้าหน้าที่อดทนแม้ทางครอบครัวนายชัยภูมิจะไม่พอใจ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจากกล้อง CCTV บริเวณจุดตรวจ พบว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตรวจค้นรถตามปกติ ไม่มีการถืออาวุธ จนเกิดเหตุการณ์ขัดขืนต่อสู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี โดยพบว่า นายชัยภูมิ มีพิรุธ และวิ่งหนี รวมทั้งจะใช้ระเบิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธป้องกันตัว และเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ยิงไปที่แขนนายชัยภูมิ นัดเดียว และไม่ใช่จุดสำคัญ แต่กระสุนเกิดการแฉลบจนทำให้นายชัยภูมิเสียชีวิต ซึ่งถือว่าเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธป้องกันตัวสมเหตุผลแล้ว ดังนั้นจึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้กระทบต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะไม่กล้าปะทะ หากปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้วต้องมีความผิด
ทั้งนี้ ผบ.ทบ.ได้ย้ำการปฏิบัติงานของกองทัพภาคที่ 3 ในช่วงฤดูร้อน 2 เรื่องคือ การแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ และปัญหายาเสพติด เนื่องจากสถานการณ์สู้รบตามแนวชายไทย-เมียนมา ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆแล้ว รวมทั้งกองทัพภาคที่ 3 ยังได้มีส่วนสนับสนุนการสร้างสันติสุขปรองดองระหว่างรัฐบาลเมียนมา กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ตามแนวชายแดน และมีแผนประสานงานส่งกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบที่ยังอยู่ในการดูแลของศูนย์พักพิงให้เดินทางกลับเมียนมาอย่างปลอดภัย ตามความสมัครใจ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
แม่ทัพภาคที่ 3 ยังระบุถึงความคืบหน้าการรับฟังความเห็นสร้างความปรองดองในพื้นที่17 จังหวัดภาคเหนือ ตามกลไก กอ.รมน.ว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัด เป็นอย่างดี และเริ่มดำเนินการรับฟังความเห็นปรองดอง 10 ประเด็น และข้อเสนอแนะอื่นๆอีก 1 ประเด็น จากประชาชน 4 กลุ่ม ทั้งกลุ่มการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ข้าราชการในพื้นที่ ครบแล้วทั้ง 17 จังหวัด และจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ กอ.รมน.ส่วนกลางต่อไป จึงไม่ต้องขยายเวลาเพิ่มไปถึงวันที่ 5 เมษายน ตามที่กอ.รมน.ส่วนกลาง ขยายกรอบเวลาให้ ทั้งนี้ในภาพรวมพบว่า ความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ต้องการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า