วันนี้ (24 มี.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การติดตามทรัพย์สินจากนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในครั้งนี้จะถือเป็นคดีตัวอย่าง เพราะนับเป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่จะมีการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย
นายนิติพันธ์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานป้องกันและปราปปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดและเดินหน้ากระบวนการยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยจะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วันนับจากนี้ จากนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท.ที่มีบุตรสาวเป็นผู้ถือครองทรัพย์สินในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร กรณีเรียกรับสินบนจากนักธุรกิจชาวอเมริกัน เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2550 หรือบางกอกฟิล์ม
จากหลักฐานพบว่านางจุฑามาศมีทรัพย์สินเป็นบัญชีเงินฝากใน 5 ประเทศ คืออังกฤษ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ เกาะเจอร์ซี และสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่ารวม 65 ล้านบาท เบื้องต้น ได้ประสานสหรัฐอเมริกาอายัดไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริตและสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง
สำหรับคดีนี้เป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศคดีแรกที่มีการติดตามทรัพย์สินคืนกลับคืนประเทศ ขณะที่คดีเรียกรับสินบนและเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจชาวอเมริกันในการดำเนินโครงการภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจะมีคำตัดสินออกมาในวันที่ 29 มี.ค.นี้
ย้อนคดีอดีตผู้ว่าการ ททท.รับสินบน
นอกจากคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติกับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท. ก่อนหน้านี้ นางจุฑามาศถูกดำเนินคดีในข้อหารับสินบน 60 ล้าน กรณีจัดเทศกาลภาพยนต์นานาชาติ ซึ่งศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 มีนาคมนี้
สำหรับคดีรับสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ 60 ล้านบาท กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2553 ศาลสหรัฐฯ และเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ หรือ FCPA ของสหรัฐฯ กับ นายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. จนเมื่อปลายปี 2553 ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก นายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย 6 เดือน จากนั้นกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน จ่ายเงินชดใช้ 2.5 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท โดยนอกเหนือจากนางจุฑามาศแล้วยังกล่าวหาบุตรสาวนางจุฑามาศด้วย
ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเร่งด่วน โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ เป็นข้อมูลเอกสารกว่า 2,200 แผ่น พร้อมทั้งเส้นทางการเงินที่นางจุฑามาศนำไปฝากที่ต่างประเทศด้วย และเชิญนางจุฑามาศและบุตรเข้ามาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.
ปี 2554 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศและบุตรถูกกล่าวหาเรียกรับสินบนวงเงินประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 60 ล้านบาท (ค่าเงินขณะนั้น) และส่งสำนวน พร้อมความเห็นให้กับอัยการสูงสุด และปลายปี 2557 ป.ป.ช.แถลงผลการประชุมคณะทำงานร่วมฯว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อไม่สมบูรณ์เสร็จแล้ว
ปัจจุบัน นำตัวนางจุฑามาศและบุตรส่งฟ้องต่อศาลอาญาและศาลนัดไต่สวนนัดแรกแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2559 และจะมีคำพิพากษาในวันที่ 29 มีนาคม เวลา 09.00 น. ณ อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ส่วนกรณีการชี้มูลวันนี้เป็นกรณีที่ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ