ทีมข่าวไทยพีบีเอส ร่วมติดตามปฏิบัติการสำรวจศักยภาพของผืนป่าตะวันออกและนับจำนวนประชากรช้างป่าตะวันออก ของกลุ่มวิจัยสัตว์ป่าและเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าจากทั่วประเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามากกว่า 100 ชีวิต เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมาและจะสิ้นสุดการลงพื้นที่ภาคสนามวันที่ 11 เม.ย.นี้
วันแรกของปฏิบัติการเริ่มต้นขึ้นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ในช่วงเช้าเป็นการประชุมเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ทั้งหมด โดยทำความเข้าใจให้ตรงกันในกระบวนการนับช้างป่า ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อย ตั้งแต่การสังเกตลักษณะตัว อายุ เพศ บริเวณที่พบ และเวลาที่พบ ซึ่งเจ้าหน้าที่บางส่วนอาจจะหลงลืมเรื่องของพฤติกรรมและเพศของช้างป่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่หลายคนมีหลายภารกิจและหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านอื่นด้วย
แต่ภารกิจสำรวจประชากรช้างป่าครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสำคัญที่จำเป็นต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการสแกนผืนป่าตะวันออกและสำรวจประชากรช้างป่า ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการช้างป่า ปี 2559 – 2574 หรือยุทธศาสตร์ช้างป่า 20 ปี ซึ่งต้องการแก้ปัญหาและจัดการปัญหาช้างป่าออกนอกเขตอนุรักษ์ให้ได้อย่างถาวร หรือ ลดปัญหาลงให้ได้มากที่สุด
ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกกับทีมข่าวว่า ภารกิจครั้งนี้ ใช้ทั้งกำลังคนลงพื้นที่จุดนับมากถึง 111 จุด และยังมีกล้องดักถ่ายสัตว์ที่เป็นตัวเสริมในการช่วยจับภาพช้างป่าในจุดที่เหมาะสม และช้างป่าเข้ามาใช้ประโยชน์จำนวน 30 ตัว และจะเริ่มการนับช้างป่าพร้อมกันทุกจุดในเวลา 15.00 น.ของวันที่ 3 เม.ย.นี้ เนื่องจากเวลาจะเป็นตัวเปรียบเทียบการนับ หากพบช้างในบริเวณที่กล้องดักถ่ายสัตว์ป่าสามารถจับภาพได้ก็จะมีเวลา และวันที่บอกที่แน่นอน หากช้างป่าเดินเดินผ่านจากจุดที่ติดกล้องไว้แล้วไปผ่านจุดที่มีเจ้าหน้าที่อยู่ ก็สามารถเปรียบเทียบเวลาได้ว่าเป็นช้างป่าตัวเดียวกันหรือไม่ เพื่อให้การนับประชากรช้างป่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด
ประเมินประชากรช้างพบเพิ่มขึ้นร้อยละ 7
“การนับประชากรช้างป่าผืนป่าตะวันออกเป็น จุดเริ่มต้นสำคัญของการวางแผนการบริหารจัด การช้างป่าออกนอกเขตอนุรักษ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลโครงสร้างประชากรของช้างป่า ซึ่งมีทั้งช้างป่าโตเต็มวัย ใกล้เต็มวัย และช้างวัยรุ่น รวมถึงจำนวนช้างป่าที่พบแน่นนอนผืนป่าตะวันออก เพื่อจะสามารถวางแผนการจัดการในอนาคตได้ว่า ในช่วง 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า จะมีช้างที่เป็นช้างเด็ก และเติบโตมาเป็นช้างวัยรุ่นเท่าไหร่ มาประมวลร่วมกับสถิติอัตราการเจริญเติบโตของช้างป่าที่เพิ่มขึ้น 7 % ทุกปี ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าช้างป่าจะมีเพิ่มมากขึ้นถึง 700 – 800 ตัวในผืนป่าป่าตะวันออกอีก 10 ปีข้างหน้า จากนี้จะกำหนดแนวทางต่างๆ เพื่อรองรับประชากรช้างในอนาคต” ดร.ศุภกิจ กล่าว
ในวันที่ 2 ของภารกิจเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ผอ.กลุ่มวิจัยสัตว์ป่าพร้อมเจ้าหน้าที่ ใช้รถโฟร์วีลคานแข็งเพื่อเข้าพื้นที่ป่าอ่างฤาไน บริเวณทรัพย์ขนุน ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านเก่าที่อพยพไปแล้วกว่า 30 ปี เพื่อไปส่งเจ้าหน้าที่ยังจุดนับช้างป่า โดยเจ้าหน้าที่จะต้องเร่งทำห้างส่องสัตว์ให้เร็วที่สุด และขึ้นไปยังห้างก่อนเวลานับช้าง 15.00 น. เนื่องจากต้องสร้างบรรยากาศให้ช้างรับรู้ เหมือนไม่มีมนุษย์อยู่ในพื้นที่นี้เลย ช้างก็จะใช้ชีวิตปกติ กินและเล่นน้ำ โดยที่ไม่รู้ว่ามีคนคอยนับพวกมันอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องกินและนอนอยู่บนห้างทั้งคืนจนกว่าจะ 11.00 น.ของอีกวันเพื่อกลับมาตุนเสบียงอาหาร และกลับเข้าไปนับช้างในบ่ายของวันนั้นอีกครั้ง ก่อนจะกลับออกมาอีกทีในวันรุ่งขึ้น
ดร.ศุภกิจ บอกว่า จำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องอยู่ที่ประจำจุดในช่วงบ่ายถึงกลางคืน เนื่องจากเป็นเวลาของช้างป่าที่จะออกมาใช้ชีวิต เดิน กิน เล่นน้ำ ในยามที่แสงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า เพราะหากเป็นช่วงกลางวันช้างป่าจะแอบเข้าไปนอนในป่าลึกที่มีต้นไม้ใหญ่และและมีร่มเงาให้ได้นอนเย็นสบาย
"โฟร์วีลคุณลาย" ยุคบุกเบิกกับภารกิจยิ่งใหญ่
ระหว่างทางเข้าพื้นที่ป่าชั้นในเพื่อส่งทีมข่าวและเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งยังจุดนับช้าง โดยมีลุงแดง หรือสมพงศ์ พันธุ์ดา เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา เป็นผู้ขับรถโฟร์วีลคุณลายเข้าพื้นที่ ลุงแดงบอกว่าอยู่ในผืนป่าอ่างฤาไนมากว่า 30 ปี อยู่มาพร้อมกับการตั้งสถานีวิจัยสัตว์ป่า และรถคันนี้ก็มาพร้อมกัน ใช้งานแบบไม่มีวันหยุดมากว่า 30 ปีแล้ว แม้ว่าเก่าและแก่ แต่ไม่มีทางเลือก ทำให้การเข้าพื้นที่ของทีมวิจัยสัตว์ป่าแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีช่างซ่อมรถมาด้วย ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ของสถานีที่ต้องทำทุกอย่าง
“ถ้าเราไม่ซ่อมก็เข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะระยะทางในการทำงานของนักวิจัยในป่าไกลหลายกิโลเมตร และมีสัมภาระที่ต้องนำเข้าไปด้วย โดยเฉพาะน้ำและอาหาร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอยู่ในป่านานถึง 4-5 วัน ในการทำภารกิจแต่ละครั้ง ถ้าไม่มีคุณลายก็ลำบากเจ้าหน้าที่มาก อาจต้องในเวลาเดินทางนานขึ้นและเป็นอันตราย เพราะสัตว์ป่ามาได้ทุกทางยามค่ำคืน แต่ยังดีที่คุณลายนั้นหากซ่อมและดูแลดีๆ ก็จะไม่งอแงระหว่างทาง” ลุงแดงกล่าว
สิ้นเสียงลุงแดงเหมือนพูดยังไม่ทันขาดค่ำ รถโฟร์วีลคุณลายก็มีเสียงเตือนว่าหม้อน้ำกำลังแห้งอย่างหนัก ลุงแดงจึงไม่รีรอที่จะหาจุดจอดรถ เติมน้ำในหม้อน้ำและพักสัก 30 นาที เพราะถ้าไม่เติมน้ำและไม่พักรถ โอกาสที่คุณลายจะพาเจ้าหน้าที่และทีมข่าวไทยพีบีเอสเข้าไปยังจุดนับช้างป่าก็คงหยุดลงตรงนั้น แต่พวกเราโชคดีที่รถสามารถไปต่อได้
รู้จัก "ช้างถนน" เจ้าถิ่นสาย 3259
การทำงานของเจ้าหน้าที่และนักวิจัยสัตว์ป่า ยังมีส่วนที่ต้องเก็บตก "ช้างถนน" หรือช้างป่าที่ออกนอกเขตอนุรักษ์ และเป็นขาประจำของถนนสาย 3259 ที่ออกมาเดินหากินเศษอ้อยแถบทุกวันก็ว่าได้ แต่เจ้าหน้าที่จะมีชุดเคลื่อนที่เร็วออกไปนับช้างป่าที่ออกนอกเขตอนุรักษ์ เรียกได้ว่า ไม่พลาดที่จะได้เห็นช้างป่าและได้นับช้างป่าที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์
เจ้าหน้าที่บอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า ช้างที่เห็นตามถนนมีฉายาทุกตัว เพราะเป็นขาประจำ บางตัวมีชื่อว่าเด็กแว้น เพราะชอบวิ่งไล่มอเตอร์ไซค์เวลาขับผ่าน บางตัวชื่อด่วนเล็ก บางตัวชื่อด่วนใหญ่ อยู่ที่ลักษณะตัว แต่ยังไม่มีช้างป่าได้ฉายาสก๊อย เพราะยังไม่ได้นั่งทับรถ
การทำงานสำรวจและนับประชากรช้างป่าครั้งนี้ยังไม่เสร็จสิ้นขบวนการ เพราะในรอบที่ 2 เจ้าหน้าที่และทีมนักวิจัยจะขยับเคลื่อนย้ายไปยังจุดนับในพื้นที่อนุรักษ์ที่เหลืออย่างอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ซึ่งอยู่ใกล้กับ อ.แก่งห่างแมว จ.จันทบุรี ที่มีช้างมากถึง 100 ตัวอยู่นอกเขตอนุรักษ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว รวมถึงอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวงด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีช้างป่าอาศัยอยู่ แต่มีจำนวนน้อยเพราะเป็นพื้นที่ภูเขามากกว่าพื้นราบ
เมื่อได้ข้อมูลทั้งจากการนับประชากรช้างด้วยคนและกล้องดักถ่ายสัตว์แล้ว ดร.ศุภกิจ ในฐานะหัวหน้าทีมสำรวจและนับประชากรช้างป่าครั้งนี้ จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบและประมวลผล เพื่อให้ได้ตัวเลขประชากรช้างป่าผืนป่าตะวันออกที่แน่นอน และยังมีภารกิจอื่นอย่างการติดตามการเคลื่อนย้ายของช้างป่า โดยการใส่ปลอกคอดาวเทียมให้ช้างป่าที่เป็นจ่าฝูง ซึ่งทีมข่าวไทยพีบีเอสจะติดตามต่อไป
เสาวนีย์ นิ่มปานพยุงวงศ์ ทีมข่าวไทยพีบีเอส รายงาน