แนวทางในการจัดสรรงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท ที่มีการเสนอเข้ามานั้น มีทั้งนำเงินไปช่วยกลุ่มผู้ป่วยใน และนำไปช่วยเหลือเรื่องค่าตอบแทนตามผลปฏิบัตงานของบุคลากร หรือ พีฟอร์พี ถือว่าเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่หากแก้ไขปัญหาในระยะยาว ก็มองกันว่า คงต้องแก้ที่กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการจัดสรรเงินไปให้กับโรงพยาบาลต่างๆได้เพียงพอ
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดสาธารณสุข เป็นผู้ไปดำเนินการเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณกลาง 5,000 ล้านบาท แต่ทั้งหมดต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า ควรจะจัดสรรอย่างไร เนื่องจากมีข้อเสนอเข้ามาในการบรรเทาปัญหาระยะ เร่งด่วน ประกอบไปด้วย 1.นำไปช่วยค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงงบค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี ก่อนดีหรือไม่ เนื่องจากเดิมงบประมาณค่าตอบแทนของกระทรวง เคยได้รับประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ 2,000 ล้านบาท ทำให้ไม่เพียงพอ 2.ให้นำไปช่วยกลุ่มผู้ป่วยใน เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหาไม่คุ้มทุน เนื่องจากข้อกำหนดการจ่ายเงินส่วนนี้ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ค่าเฉลี่ยกลุ่มโรคน้อย และ 3.ให้นำไปช่วย รพ.ที่มีปัญหาหนี้สิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อเสนอจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องรอการประชุมหารือกันในสัปดาห์นี้ก่อน
ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า การถึงพิจารณาว่าจะจัดสรรงบกลาง 5,000 ล้านบาทว่า ควรนำไปช่วยเหลือเรื่องการค้างจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พีก่อน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หลายแห่งค้างจ่ายบุคลากรสาธารณสุขอยู่ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาททั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการให้ขวัญกำลังใจ บุคลากร
แต่หากระยะยาวแล้ว มองว่า อาจจะต้องแก้ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากการจัดสรรเงินไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ต้องการให้แก้กฎระะเบียบต่างๆ ที่เอื้อให้โรงพยาบาลสามารถหารายได้เข้าโรงพยาบาลได้ด้วย เช่น เปิดพื้นที่ให้ร้านค้าเช่าขายของ
ขณะที่ นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า หากนำงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ไปช่วยโรงพยาบาล ที่ค้างจ่ายพีฟอร์พีก็เป็นเรื่องดี เพียงแต่บางโรงพยาบาลมีการจ่ายไปแล้ว จึงมองว่าควรนำเงิน 5,000 ล้านบาทไปช่วยทั้งระบบก่อนดีกว่า เพราะหากระบบเดินได้ แต่ละแห่งก็จะบริหารจัดการบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ระยะหนึ่ง