วันนี้(17 เม.ย.2560) นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เนื่องจากคืนนี้ เป็นวันแรม 6 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ จะมีปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญทางทะเล โดยเป็นช่วงที่ปะการังก้อน ปะการังสมองในฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร และที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี จะปล่อยไข่ และสเปิร์ม
ออกมาพร้อมกันจำนวนมากๆ เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น และจะมีเวลานาทีทองแค่ 15 นาที
เนื่องจากในช่วงเวลานี้ จะเป็นช่วงน้ำนิ่งหรือน้ำตาย 5-6 ค่ำ เป็นคืนที่มืด หรือคืนแรมดวงจันทร์จะโผล่ หลังเที่ยงคืนไปแล้ว ความมืด บวกกับอุณหภูมิที่เหมาะสมของน้ำทะเลในช่วงฤดูร้อน จึงมีความเหมาะสมต่อการสืบพันธุ์ของปะการัง
“เราสามารถมองเห็นไข่ของปะการังที่ถูกปล่อยออกมาได้ด้วยตาเปล่า โดยจะเห็นเป็นเม็ดสีชมพู สีแดง ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ส่วนที่จะเห็นขุ่น ๆ เป็นการปล่อยสเปิร์มของปะการังโขด โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเป็นช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 19.00-21.00 น.ของวันนี้ และจะปล่อยออกมาเพียง 15 นาทีเท่านั้น เพียงปีละครั้ง เรื่องนี้เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่หาดูยาก”
นายศักดิ์อนันต์ กล่าวว่า โดยหลักการ ปะการังมีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งบางชนิดสามารถปล่อยไข่ และสเปริ์มได้ในชนิดเดียวกัน แต่บางชนิดจะปล่อยไข่ หรือสเปิร์มเพียงอย่างเดียว เช่น ปะการังดอกไม้ทะเล (Gonipora) เมื่อไข่ปะการัง และสเปิร์ม ถูกปล่อยออกมาภายนอก ไปเจอชนิดเดียวกันก็จะผสมกันเองตามธรรมชาติ
ซึ่งแม้จะยังไม่มีการศึกษาชัดเจนว่าอัตรารอดของการสืบพันธุ์ในธรรมชาติจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นวิธีการที่ดี เพราะจะช่วยให้มีความหลากหลายทางสายพันธุจะมาก กว่า และปะการังมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี ในสิ่งแวดล้อมจะตัวที่รอดและคัดเลือกตามธรรมชาติ