วันนี้(27 เม.ย.2560) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ขึ้นชื่อของภาคตะวันออก และเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจ เฉพาะช่วงไฮซีซั่น มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ มาเยือน ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าช่วงเย็น รถขยะของอบต.เกาะกูด จะเก็บขยะจากถังบริเวณชายหาด แหล่งท่องเที่ยว ครัวเรือน ร้านอาหาร รวมถึงที่พักทั้งโรงแรม รีสอร์ท และโฮมสเตย์กว่า 70 แห่ง โดยบริเวณอ่าวตะเภา หนึ่งในหาดที่สวยแห่งหนึ่งในเกาะกูด มีผู้ประกอบการบางแห่งให้ความสำคัญกับปัญหานี้ บางแห่ง มีการคัดแยกขวดประเภทต่างๆ และกล่องกระดาษ เพื่อนำไปขาย ส่วนขยะเปียก และขยะประเภทอื่นๆ จะรวบรวมใส่ถุง ก่อนนำไปทิ้งที่จุดรับขยะ ของ อบต.เกาะกูด
แต่ขยะส่วนใหญ่บนเกาะ ที่ไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง โรงคัดแยกขยะของอบต.เกาะกูด จึงเข้ามาทำหน้าที่นี้ ขยะที่ผ่านการคัดแยกและนำไปรีไซเคิลได้ จะถูกรวมไว้ในถุง เพื่อขายออกจากเกาะ แต่จัดการได้เพียงร้อยละ 40 ของขยะทั้งหมด ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 ส่วนใหญ่เป็นขยะเปียก และถุงพลาสติก ทำได้เพียงนำไปฝังกลบ
กฤษดา ศานติโกมล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด คาดการณ์ว่า บ่อกำจัดขยะทั้ง 4 บ่อ มีปริมาณขยะสะสมมากกว่า 2,000 ตัน จึงมีแนวทางเตรียมให้เอกชนมารับซื้อ ไปแปลงสภาพเป็นขยะเชื้อเพลิง
ขณะที่ ทวีวรรณ จุลเลขะกะ นักท่องเที่ยว ยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขยะให้เกาะกูด แม้จะยังไม่สามารถลดขยะพลาสติกได้ แต่ก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้
ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการท่องเที่ยวบนเกาะกูด กลายเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ไม่เพียงท้าทายความสามารถในการแก้ปัญหาของคนแต่ละกลุ่มแต่ยังเป็นตัวชี้วัดอนาคตของเกาะ ที่ได้ชื่อว่า สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในทะเลตะวันออก