ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายแรงงานเดินรณรงค์ จี้รัฐบาลลดเหลื่อมล้ำ

สังคม
1 พ.ค. 60
10:41
438
Logo Thai PBS
เครือข่ายแรงงานเดินรณรงค์ จี้รัฐบาลลดเหลื่อมล้ำ
เครือข่ายแรงงานจัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ

วันนี้ (1 พ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายแรงงาน โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสากิจสัมพันธ์ (สรส.) เดินรณรงค์ทางนโยบายตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อแสดงออกถึงพลังของการเรียกร้องในภาคแรงงานสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานทั่วประเทศ รวมถึงการติดตามข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 10 ข้อ ที่ยื่นเสนอเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ข้อเสนอ 10 ข้อ ถือเป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้แรงงานมีความมั่นคงและได้รับความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งรัฐบาลต้องมีความจริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน 40 ล้านคน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป

ขณะที่นายไพฑูรย์ บางหรง ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานตะวันออก กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเรียกร้องมานาน 20-30 ปี

สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ และวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม ปีนี้ คือ

1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฎิบัติ เช่น ด้านสาธารณสุข ทุกคนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

3.รัฐต้องให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฎิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา

4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพ

5.รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

6.รัฐต้องปฎิรูประบบประกันสังคม

7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย

8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม

9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวคล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง

10.รัฐต้องจัดสรรเงินให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง