วันนี้ (9 พ.ค.2560) พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงความคืบหน้าการพิจารณาปรับแก้ร่างกฎหมาย ว่า ที่ประชุมพิจารณามาตรา 21-33 โดยยังไม่พิจารณา 9 มาตรา เพื่อให้กรรมาธิการส่งข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่ยังเห็นต่าง เช่น มาตรา 22 กำหนดให้ช่วงการยุบสภา กกต.มีหน้าที่ให้ความเห็นกับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. ให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169
ส่วนมาตรา 26 ที่ประชุมยังเห็นต่างกับเนื้อหาที่ระบุถึงอำนาจ กกต.ในการสั่งสืบสวนไต่สวนเมื่อมีเหตุสงสัย ซึ่ง กกต.มองว่ายังขาดอำนาจในการสั่งยกเลิกการเลือกตั้งโดย กกต. 1 คน ตามที่มาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญระบุว่าสามารถกระทำได้ แต่ยังมีความเห็นแย้งว่า กกต 1 คนมีอำนาจสั่งการเด็ดขาดนั้นไม่เหมาะสมและอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตราที่ 28-31 เกี่ยวกับผู้ตรวจการการเลือกตั้งที่ประชุมยังรอการพิจารณาอีกครั้ง และมาตรา 33 วรรค 2 กำหนดอำนาจในการระงับคำสั่งเพิกถอนชั่วคราว เดิมผู้มีสิทธิร้องต่อศาลฎีกา เปลี่ยนเป็นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ที่ประชุมให้นำ เนื้อหาในร่างเดิมมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง พร้อมเปิดเผยว่า ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.จะเข้าสู่ที่ประชุมวาระ 2 และ 3 ได้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้
ขณะที่วันนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เริ่มประชุมพิจารณามาตราที่ 94 หมวดบทกำหนดโทษ จากเนื้อหาทั้งหมดของร่าง 142 มาตรา และคาดว่าพิจารณาอีก 3 นัดให้แล้วเสร็จ ก่อนที่ประธาน เลขา และโฆษกคณะกรรมาธิการ จะรับหน้าที่ไปชี้แจงต่อสมาชิกในที่ประชุมสัมมนานอกสถานที่ จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 20-21 พ.ค.นี้
วานนี้คณะกรรมาธิการฯพิจารณามาตราที่ 77-93 โดยที่ประชุมรอการพิจารณา 2 มาตรา คือ มาตรา 77 และ 78 เกี่ยวกับความชัดเจนของระยะเวลาการจัดสรรเงินและการรายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาการเมืองของพรรคการเมือง ที่กำหนดไว้ทุก 3 เดือน หมวด 8 การสิ้นสุดของพรรคการเมืองไม่มีการแก้ไข ส่วนมาตรา 86 มีการแก้ไขในอนุ 4 เพิ่มคำว่า "การเมือง" ข้างหลังคำว่าพรรค ทั้งนี้มีการแก้ไขมาตรา 89 โดยแก้ไขถ้อยคำเรื่องข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งตัดคำว่าพรรคการเมืองออก และพิจาณาการใช้ถ้อยคำระหว่าง 6 เดือน และ 180 วัน ส่วนหมวด 9 การควบรวมพรรคการเมืองไม่มีการแก้ไข