แม้จะยอมรับว่า การทำหน้าที่ของสื่อบางส่วน เป็นเหตุให้มีแนวคิดการปฏิรูปสื่อฯ แต่นายสมชาย แสวงการ ในฐานะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน ของ สนช.ก็เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุม สปท.และเตรียมจะเสนอไปยังรัฐบาล จะต้องมีการปรับแก้เนื้อหาเพิ่มเติมเพราะยังเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเฉพาะควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อฯมากกว่าส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบโดยเฉพาะคดีทุจริต ตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุเรื่องสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ เช่น ประเด็นเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แม้จะเปลี่ยเป็นใบรับรอง และสัดส่วนของภาครัฐในกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
แต่ในฐานะ สนช.ที่ต้องพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ในด่านสุดท้าย ก็ไม่หนักใจ แม้จะยังมีความเห็นต่าง เพราะ สนช.ยังสามารถปรับเนื้อหาได้ หากมีประเด็นที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค และการควบคุมกันเองของสื่อ โดยคาดการณ์ว่าอีก 6-12 เดือน กฎหมายนี้จึงจะเข้าสู่กระบวนการของ สนช.
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท.ระบุว่า ขณะนี้ได้พิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะส่งให้ประธาน สปท.ได้ในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อส่งต่อให้ ครม. โดยรายงานที่ส่งให้ ครม.นั้น จะแนบการอภิปรายของสมาชิก สปท.20 คน ไปกับร่าง พ.ร.บ.ซึ่งตัดเรื่องการขึ้นทะเบียนประกอบวิชาชีพสื่อฯ และบทลงโทษออก แต่ยังคง 2 สัดส่วนภาครัฐ ในกรรมการสภาวิชาชีพสื่อฯไว้เช่นเดิม ส่วนข้อเสนอของ พล.อ.อ.คณิต ที่ให้ตัวแทนภาครัฐ 2 คนร่วมอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อฯ เพียง 5 ปี ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สปท.แต่ พล.อ.อ.คณิต ระบุ จะแนบความเห็นนี้ไปพร้อมกัน ขึ้นกับ ครม.จะพิจารณา