วันนี้ (16 พ.ค.2560) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า การแพร่กระจายของไวรัสคอมพิวเตอร์เรียกค่าไถ่ "วอนนาคราย เริ่มลดลง หลังโจมตีส่งผลกระทบต่อระบบคอมพิวเตอร์ใน 150 ประเทศ โดยเมื่อวานนี้่มีรายงานการโจมตีครั้งใหม่ทั่วโลกเกิดขึ้นไม่มาก ขณะที่โฆษกสำนักงานตำรวจยุโรป (ยูโรโปล) เปิดเผยว่า การแพร่กระจายของไวรัส "วอนนาคราย" ในยุโรปเริ่มทรงตัว
ส่วนทวีปในเอเชีย ซึ่งสำนักงานส่วนใหญ่ปิดก่อนที่ไวรัส "วอนนาคราย" จะเริ่มแพร่กระจาย เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ โดยทางการอินเดีย เปิดเผยว่า ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่รอดพ้นจากการโจมตีไวรัสวอนนาคราย ขณะที่หน่วยงานดูแลเว็บไซต์ของรัฐและซูเปอร์คอมพิวเตอร์ได้ติดตั้งโปรแกรมความปลอดภัยของไมโครซอฟท์
ด้านบริษัทไมโครซอฟท์ออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลจุดอ่อนของระบบความปลอดภัยเอาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการโจมตีทางไซเบอร์ในครั้งนี้เป็นผลมาจากกลุ่มแฮคเกอร์ที่ใช้ชื่อว่า Shadow Brokers สามารถเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
ไวรัสวอนนาครายทำงานโดยเข้าไปล็อกไฟล์ข้อมูลต่างๆ ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเปิดไฟล์ได้ก่อนที่จะเรียกร้องเงินค่าไถ่จำนวน 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 10,000 บาท ในสกุลเงินดิจิทัลบิทคอยน์ เพื่อแลกกับรหัสปลดล็อกไฟล์ โดยการเรียกเงินค่าไถ่มีกำหนดเส้นตายให้จ่ายในเวลา 3 วัน หากผ่านไป 7 วันยังไม่มีการจ่ายเงินค่าไถ่ไฟล์ดังกล่าวจะถูกลบทิ้งทันทีซึ่งทีมฉุกเฉินของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา ระบุว่าการจ่ายค่าไถ่ไม่ได้รับประกันว่าจะได้ไฟล์กลับคืนมา