วานนี้(21 พ.ค.2560) สมาพันธ์คนงานรถไฟไทย กว่า 20 คน ร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้านจัดตั้งกรมขนส่งทางราง และการจัดตั้งบริษัทการเดินรถบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อน และบริษัทบริหารทรัพยสิน เพราะเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่
นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟไทย บอกว่า ร่างพระราชบัญญัติกรมขนส่งทางราง พ.ศ...ที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อปลายปีก่อน พบความไม่โปร่งใสหลายอย่าง โดยเฉพาะการให้อำนาจกับ อธิบดีกรมขนส่งทางรางเข้ามาบริหารงาน แทนการกำกับดูแลนโยบาย และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาแข่งขันบนระบบราง แต่กลับเป็นวิธีการสอดแทรกให้กรมการขนส่งทางรางเข้ามาบริหารงาน ผ่านการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาถึง 2 บริษัท
เขามองว่า กฎหมายฉบับบนี้ ยังระบุถึงการโอนย้ายทรัพยสินทั้งหมด ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารแทน ทำให้สมาพันธ์คนงานรถไฟไม่เห็นด้วย และจะเดินหน้าคัดค้านให้ถึงที่สุด เพื่อให้รัฐบาลชะลอกระบวนการออกฎหมาย เพราะถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมาแล้วกิจการทั้งหมดอยู่ในมือเอกชน จึงเรียกร้องให้นำกลับไปพิจารณาใหม่
ขณะที่นายอินทร์ แย้มบริบูรณ์ กรรมการสมาพันธ์คนงานรถไฟ บอกว่า การขาดทุนของรถไฟไทยที่ผ่านมา เกิดจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เช่นการจัดขบวนรถไฟฟรี เพราะรัฐบาลไม่ยอมให้ขึ้นค่าโดยสารตามความเป็นจริง ต้องเรียกเก็บค่าโดยสารกิโลเมตรละ 2.40 บาทต่อคน แต่ยังให้จัดเก็บอยู่ราคาเดิม 0.24 สตางค์ จนถึงปัจจุบันนี้ แท้จริงแล้วรถไฟไม่ได้มีหนี้อะไรมากมาย แต่ แบกภาระการขาดทุนมา 30 -40 ปี
โดยเวลา 9.30 น.วันนี้ ตัวแทนสมาพันธ์คนงานรถไฟจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์รับเรื่องราวรองทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นไปกระทรวงคมนาคม เป็นการแสดงจุดยืนร่วมกันเพื่อคัดค้านกฎหมายกรมขนส่งทางราง