วันนี้ (23 พ.ค.2560) เมื่อเวลา 13.30 น.ประมาณที่ผ่านมา ตัวแทนผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจาก สหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (The Asia Internet Coalition) นำโดยนายเจฟฟ์ เพน กรรมการผู้อำนวยการ ซึ่งสหพันธ์นี้ มีสำนักงานใหญ่ประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์และมีสมาชิกโซเชียลมีเดีย 8 แบรนด์ดัง อยู่ในสหพันธ์ เช่น Facebook, Line, Google,Twitter, Yahoo, Apple, Linked in และ Rakuten เข้าพบหาหารือกับ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช., นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. รวมถึงตัวแทนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เกี่ยวกับประเด็นการขอความร่วมมือจาก กสทช. เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทำผิดกฎหมายของประเทศไทย
นายฐากร กล่าวว่า กสทช.ได้ชี้แจงสมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชียว่า กสทช.ยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ปิดกั้นทั้งระบบ แต่ปิดกั้นเฉพาะที่มีหมายศาลเท่านั้น ซึ่งกฎหมายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันได้อธิบายให้สมาพันธ์เข้าใจแล้ว โดยตัวแทนสมาพันธ์ฯ รับปากว่า จะเป็นผู้ประสานงานกับสมาชิกที่ให้บริการโซเชียลมีเดียอีกทางหนึ่ง
“สมาชิกในสมาคมนี้มีแบรนด์ใหญ่ๆ อยู่แล้ว และน่าจะเป็นสมาพันธ์ที่ใหญ่ที่สุดแล้วในเอเชีย สิ่งที่เราขอความร่วมมือเขา คือให้ยึดหมายศาลเป็นหลัก หากทางเขาเข้าใจก็จะทำให้รูปแบบการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น
ซึ่งได้อธิบายให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายของไทยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง รวมถึงสื่อต่างๆ เช่น การพนัน, ลามกอนาจาร เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ยืนยันชัดเจนแล้วว่าเป็นการขอความร่วมมือ ไม่ใช่การปิดกั้น ซึ่ง กสทช.ก็ยืนยันตามนี้”
สำหรับขั้นตอนหลังจากการประสานความร่วมมือ หากมีหมายศาลออกมาแล้ว หน้าที่หลักจะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อส่งหมายศาลไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตของไทย เพื่อแจ้งหมายศาลต่อ เฟซบุ๊ก หรือ ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียแบรนด์อื่นๆ โดยตรง โดยสำนักงาน กสทช. จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้เร่งรัดเท่านั้น
สำหรับปัจจุบัน กสทช. และกระทรวงดีอี อยู่ระหว่างการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสมที่มีประมาณ 6,900 URL และสัปดาห์ที่ผ่านมา สั่งขอให้ ISP แจ้งถึงผู้ให้บริการเฟซบุ๊กโดยตรงเพื่อขอให้ปิดกั้น แต่เนื่องจาก เฟซบุ๊กยังไม่ได้หมายศาลทำให้ยังไม่สามารถปิดกั้นได้จำนวน 34 URL ตามที่ กระทรวงฯร้องขอและขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากระบวนการทางศาล