วันนี้ (31 พ.ค.2560) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เม้นท์ว่า ยอมรับว่าผู้ประกอบการร้านค้ายังติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) เพียง 60,000 เครื่อง ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมาย โดยอ้างว่าไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้า ซึ่งยังคงใช้เงินสดและบางส่วนกังวลการตรวจสอบรายได้และการเสียภาษีจากกรมสรรพากร แต่เชื่อว่าการจับรางวัลผู้ใช้และร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านเครื่องอีดีซี ครั้งแรก ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ รางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มความสนใจในการติดตั้งเครื่อง พร้อมกำชับให้สมาคมธนาคารไทยปรับปรุงระบบพร้อมเพย์ สำหรับผู้ลงทะเบียนโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ ให้เพิ่มข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชน เพื่อความสะดวกในการรับเงินสวัสดิการ หากมีการเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ และยังไม่แจ้งธนาคาร รวมทั้งให้คณะทำงานศึกษาการใช้ระบบคิวอาร์โค้ดในการชำระเงิน เพื่อให้พร้อมเพย์เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัวในไตรมาส 3
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยว่าใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งมีประมาณ 7-8 มาตรการ พร้อมเร่งศึกษาแนวทางการเติมผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท โดยรัฐจะทยอยจ่ายเงินภาษีให้แบบรายเดือน แต่ผู้ขอรับสวัสดิการต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือเดือนละประมาณ 2,400 บาท และต้องเข้ารับการอบรมสร้างงานตามกำหนดของรัฐบาล
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้ลงทะเบียนโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเบื้องต้นพบปัญหาการกรอกข้อมูลประมาณ 40,000 คน และคาดว่าจะทยอยออกบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบัตรตั๋วร่วมแมงมุมชำระค่าโดยสาร รถเมล์ รถไฟ ได้ในเดือนกันยายน และสวัสดิการทั้งหมด ยกเว้นการจ่ายเงินภาษีคืน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2560