วานนี้ (5มิ.ย.2560) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. กล่าวชี้แจงหลังปฏิเสธที่จะระบุถึงมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประ กอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่ให้สรรหา กกต.ใหม่ทั้ง 7 คน แทนที่จะให้เป็นไปตามร่างเดิมของ กรธ.ที่ให้กรรมการสรรหา เป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติ โดยในฐานะประธาน สนช.จะต้องวางตัวเป็นกลาง จะวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของกมธ.หรือของผู้สงวนคำแปรญัตติคงไม่เหมาะสม อีกทั้งกระบวนยังไม่สิ้นสุด และขอให้ที่ประชุมสนช. วันที่ 9 มิ.ย.นี้ เป็นผู้ชี้ขาด
พร้อมอธิบายว่าการพิจารณากฎหมายลูก มีลักษณะพิเศษ เพราะไม่ต้องยึดหลักการของเจ้า ของร่าง เพียงแต่การปรับแก้ ต้องไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้ที่จะตัดสินในขั้นตอนสุดท้าย หากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้ว ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ โดยสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากการที่ กกต.มีสิทธิโต้แย้ง และตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง สนช. กกต.และ กรธ.
"วิษณุ"ชี้เลือก กกต.ใหม่ 7 คนแก้ปัญหาปลาสองน้ำ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า มติของกรรมาธิการวิสามัญฯ ของ สนช.ที่ให้สรรหากกต.ใหม่ทั้ง 7 คน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ปลาสองน้ำ เพราะ มีการปรับโครงสร้างกกต.ใหม่ จาก 5 คน เป็น 7 คน และมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุผลเรื่องคุณสมบัติเท่านั้น แตกต่างจาก ป.ป.ช.หรือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง
นายวิษณุ ยังเชื่อมั่นว่า แนวคิดนี้จะไม่ส่งผลให้โรดแมปเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป เพราะยังไม่มีใครรู้ว่า จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่จะต้องมี กกต.ชุดใหม่ ภายในปีนี้ และการจัดทำพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมูญที่ว่าด้วย การเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ก็ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เพราะสาเหตุต้องการให้ กกต.ชุดใหม่ ทำกฎหมายฉบับนี้
มีรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปที่ กรธ.เตรียมเสนอต่อ สนช.คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่ง กรธ.มีแนวทางให้คณะกรรมการสรรหา เป็นผู้วินิจฉัยคุณสมบัติของ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันว่า เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดหรือไม่ ภายใน 15 วัน นับแต่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้
ซึ่งแตกต่างจากร่างกฎหมายลูกที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยกร่างส่งมาประกอบการพิจารณาของ กรธ. ซึ่งมีสาระสำคัญให้กรรมการสิทธิ์ฯ ชุดปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งต่อไป จนครบวาระตามรัฐธรรมนูญปี 2550
เช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ของ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างโดย ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ต่างมีสาระสำคัญให้กรรมการในองค์กรอิสระทั้ง 2 แห่ง ดำรงตำแหน่งจนครบวาระเช่นกัน