ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปรากฏการณ์สื่อกับคดีฆ่าหั่นศพ

อาชญากรรม
6 มิ.ย. 60
17:25
1,533
Logo Thai PBS
ปรากฏการณ์สื่อกับคดีฆ่าหั่นศพ
คดีฆ่าหั่นศพยังมีเรื่องให้มองอีกหลายมิตินอกจากการถอดบทเรียนจากพฤติกรรมที่รุนแรงแล้ว การทำหน้าที่ของสื่อทั้งสื่อกระแสหลักและในโซเชียลมีเดียถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ และสังคมได้อะไร

ปรากฏการณ์ของ น.ส.ปรียานุช โนนวังชัย (เปรี้ยว) ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม น.ส.วริศรา กลิ่นจุ้ย (แอ๋ม) กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ หลังควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนได้ บางเพจนำไปเปรียบเทียบกับผู้ต้องหาคดีอื่นๆ ว่าได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน เช่น ผู้ต้องหาคดีการเมือง คดีเมาแล้วขับ นอกจากนี้ มีบางเพจฉวยโอกาสนำสินค้าที่เหมือนกับของที่ผู้ต้องหาใช้มาประกาศขาย เสมือนกับผู้ใช้เป็นบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งที่จริงเป็นผู้ต้องหา

ปรากฏการณ์ของเปรี้ยวที่เกิดขึ้น เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค ดราม่าแอดดิค มองว่าทุกสื่อ ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อสังคมออนไลน์ ต่างมองข่าวของเปรี้ยวเป็นสินค้าที่ต้องการขาย เพื่อแลกกับเรตติ้ง แต่ไม่ได้มองว่าการขายนี้ จะให้อะไรกับสังคมได้บ้าง

เกือบ 2 สัปดาห์ ที่ข่าวของเปรี้ยว ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องทั้งในสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคมออนไลน์ จนทำให้เปรี้ยวเป็นที่รู้จัก ผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายคน จึงตั้งคำถามว่าข่าวของเปรี้ยวมีความสำคัญมากขนาดไหน และการที่สื่อให้ความสำคัญจะเป็นการเชิดชูผู้ต้องหาหรือไม่

นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ อธิบายการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์นี้ว่าเป็นเพราะสื่อต้องการตอบสนองความสนใจของประชาชน เพื่อช่วงชิงเรตติ้ง ยอดวิว ยอดไลค์ นำมาสู้รายได้จากโฆษณา แต่อีกมุมมองหนึ่ง ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประชาชนที่รับสื่อเอง ก็ให้ความสนใจกับเรื่องลักษณะนี้

นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์แนะนำให้ประชาชนที่บริโภคสื่อต้องกล้าปฏิเสธสื่อที่นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสม และไม่เกิดประโยชน์กับสังคม เพื่อให้สื่อเหล่านั้นปรับตัว ขณะที่สื่อเองควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้นและช่วยกันกำกับดูแลกันเองด้วยความเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นการทำหน้าที่ของสื่อขณะนี้ อาจถูกนำไปเป็นข้ออ้างเพื่อให้บุคคลอื่นเข้ามากำกับแทน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง