วันนี้ (14 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากเป็นไปตามการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2557 ปีที่ผ่านมาก็คงได้เห็นการเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 179,000 ล้านบาท แต่จนถึงวันนี้ ไทยและจีนได้ร่วมประชุมกันมา 18 ครั้ง ล่าสุด คือวันที่ 22-24 พ.8.ที่ผ่านมา แต่ยังมีรายละเอียดด้านเทคนิคต้องหารือกันอีก โดยจีนขอให้ไทยเร่งการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ระหว่างสถานีกลางดง-ปางอโศก คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างการออกแบบได้ภายในเดือนกรกฎาคม เงินลงทุนเบื้องต้นคาดว่า 200 ล้านบาท
ขณะที่สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง ต้องร่วมหารือเพื่อพิจารณาหาแหล่งเงินว่าจะเป็นในรูปแบบเงินกู้ หรือใช้งบประมาณประจำ โดยการใช้เงินกู้นั้นจะใช้ในส่วนของอุปกรณ์นำเข้า ตัวรถ และระบบอาณัติสัญญาณ นอกจากนี้ยังได้ติดตามความคืบหน้าการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม 4 ครั้ง และได้เห็นชอบโครงการในช่วงกรุงเทพฯ-บ้านพาชีแล้ว ส่วนช่วงบ้านพาชี-นครราชสีมา อยู่ระหว่างการนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะใช้มาตรา 44 เปิดทางปัญหาหลัก 5 เรื่อง เช่น การก่อสร้างต้องใช้สถาปนิก วิศวกรจากจีนเข้ามาดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดข้อกฎหมายของไทย ที่วิศวกรจะต้องสอบใบอนุญาต หรือการจัดซื้อระหว่างรัฐต่อรัฐ จะต้องเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาลซึ่งต้องให้กระทรวงคมนาคมของไทยประสานงานจีน เพื่อให้ทางการจีนทำหนังสือรับรองกับบริษัทที่จะดำเนินการก่อสร้าง
ขณะที่นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มองว่า การมีวิศวกรที่มีความรู้ในด้านที่ไทยยังขาดน่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาบุคลากรของไทยที่ได้เข้าไปร่วมงานหากมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี
โครงการรถไฟไทย-จีน เป็นหนึ่งในโครงการลงทุนเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเส้นทาง one belt one road แต่ไม่ควรพิจารณาเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางเท่านั้น แต่ต้องทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในไทย ไม่ว่าจะเป็น อีอีซี หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เส้นทางรถไฟพาดผ่าน
อย่างไรก็ตาม การเจรจาโครงการนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับไทย ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับรายได้ของไทย ไม่ปล่อยให้ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่ขายเทคโนโลยีและรถไฟให้ไทยเท่านั้น