วันนี้ (16 มิ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีการแชร์จนเป็นกระแส ในสื่อสังคมออไลน์ ที่ระบุว่ามีคนกินลาบเนื้อดิบ จนติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส หรือโรคไข้หูดับ จนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล นางวิภารัศมิ์ ทิพย์ปัญญา นักวิชาการสาธารณะสุขชำนาญการ กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณะสุข จังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่ายังไม่พบเชื้อโรคไข้หูดับในสัตว์อื่นนอกจากหมู แต่ในกรณีที่กินลาบเนื้อดิบแล้วติดเชื้อไข้หูดับ เป็นไปได้ว่าอาจใช้เลือดหมูมาปรุงกับลาบเนื้อ
เช่นเดียวกับนายประสงค์ วงศ์กุณา ชาวบ้านต้นงิ้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าที่ผ่านมาเคยได้ยินโรคไข้หูดับ จากการกินลาบหมูดิบเท่านั้น แต่ไม่เคยทราบว่ากินลาบเนื้อดิบจะทำให้โรคไข้หูดับได้ ทั้งนี้ลาบเป็นอาหารที่ชื่นชอบของคนทางภาคเหนืออยู่แล้ว
รศ.นิรมล นาวาเจริญ อาจารย์พิเศษ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า เชื้อไวรัสสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส หรือ โรคไข้หูดับ จะพบในหมูเท่านั้น เพราะจะมีเชื้ออยู่ในจมูกและลำคอ หากหมูป่วยเชื้อก็จะซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้คนที่กินเนื้อหมูดิบจะติดเชื้อไข้หูดับได้ โดยล่าสุดยังไม่พบเชื้อตัวนี้ในวัวและควาย แต่การงดกินประเภทเนื้อสัตว์ดิบจะปลอดภัยที่สุด
โรคไข้หูดับจะติดต่อจากหมูสู่คนผ่านบาดแผลตามร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2 -5 วัน โดยเริ่มจากเป็นไข้ ปวดหัว อาเจียน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และจะทำให้ไม่ได้ยินเสียง ข้อมูลของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า ปี 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 11 คน และปี 2560 พบผู้ป่วยแล้ว 3 คน ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการกินลาบหมูดิบ