เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.2560) นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เพื่อหารือทางออกแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ว่า สมาคมไม่มีปัญหาในการออกคำสั่งมาตรา 44 ยกเว้นให้วิศวกรจีนไม่ต้องสอบใบอนุญาตในการเข้ามาทำงานในโครงการนี้ แต่ขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรรมสถานฯ มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และให้วิศวกรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อสร้างร้อยละ 30 รวมถึงใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนการขึ้นทะเบียนวิศวกรจีนเป็นหน้าที่ของสมาคมวิศวกร ซึ่งนายวิษณุเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ โดยวิศวกรรมสถานฯ จะเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมข้อมูลมานำเสนอกำหนดข้อเสนอของสมาคมวิชาชีพในสัญญาการก่อสร้าง
ขณะที่นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า แม้จะไม่มีการสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ 5 ฝ่าย ที่กระทรวงคมนาคมจะจัดขึ้น โดยเบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคนิค และหลักสูตรเกี่ยวกฎหมาย ความปลอดภัยและจริยธรรมของไทยก่อน หลักการสำคัญคือต้องให้จีนเคารพกฎหมายวิศวกรไทย และให้ความสำคัญกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีอย่างจริงจัง
ขณะที่นายดวงฤทธิ์ บุนนาค นักวิชาชีพด้านสถาปนิกและการออกแบบ กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ในครั้งนี้จะลดทอนโอกาสเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของนักวิชาชีพชาวไทย ต่างจากสนามบินสุวรรณภูมิที่มีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานออกแบบ แต่สามารถดำเนินการตามระเบียบได้
นอกจากนี้ นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่ได้ขวางการสร้างรถไฟไทยจีนของรัฐบาล แต่หากจะทำ ก็ต้องการให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า และจริงอยู่ที่ไทยทำระบบรถไฟไม่เก่ง แต่เรื่องอาคารและโครงสร้างที่รองรับระบบ เชื่อว่าวิศวกรและสถาปนิกไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลก ดังนั้น ควรจะให้งานออกแบบก่อสร้างแยกเป็นสองส่วน โดยส่วนไหนทำไม่ได้ก็ให้เขาทำ ส่วนไหนเราทำได้เราก็ทำ