ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เล็งใช้ ม.44 แก้ผลกระทบพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

สังคม
30 มิ.ย. 60
20:46
1,107
Logo Thai PBS
เล็งใช้ ม.44 แก้ผลกระทบพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว
คาดเตรียมใช้ มาตรา 44 แก้ผลกระทบจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่เพิ่งบังคับใช้23 มิ.ย. หลังภาคเอกชนยื่น 4 ข้อเสนอถึงรัฐบาลโดยแนวทางเบื้องต้น จะชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ 3 มาตรายับยั้งแรงงานกลับประเทศ

วันนี้(30 มิ.ย.2560) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่เพิ่งบังคับใช้ โดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หามาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว แต่ระยะยาวจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภาคเอกชนและตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อรับทราบถึงปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ และแนวทางแก้ไข

นายวิษณุ ระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์   เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ 3 มาตรา คือ มาตรา 101,102 และ 122 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเอาผิดนายจ้าง และลูกจ้างโดยมีโทษปรับสูงตั้งแต่ 400,000 บาท - 800,000 บาท ออกไปก่อน 120 วัน แต่มาตราที่เหลืออยู่ให้บังคับใช้ต่อไป แต่ระหว่างนี้จะไม่มีการจับกุมหรือกวดขันแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์


ส่วนการชะลอการบังคับใช้บางมาตราเพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับไปทำเรื่องให้ถูกต้องก่อน ผ่าน 3 ช่องทางคือ ประเทศต้นทาง บริเวณชายแดน และที่ศูนย์พิสูจน์บุคคลกรณีชาวเมียนมา ที่มีอยู่ 5 แห่งในประเทศไทย

ขณะที่เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐเร่งทบทวนแก้ปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพราะ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ทำให้นายจ้างเริ่มละทิ้ง ลูกจ้าง ลูกจ้างถูกกวาดล้างจับกุม โดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตัว และส่งกลับเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาจอาศัยช่องทางเรียกรับเงินจากแรงงานและนายจ้าง

พร้อมเสนอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการบทลงโทษรุนแรงและแตกต่างกันระหว่างแรงงานข้ามชาติและนายจ้างโดยเฉพาะการยกเลิกการจำคุกโดยทันที เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงานเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2557

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง