พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้เหตุผลว่า ด้วย พ.ร.ก.ฉบับนี้ ได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งยังไม่มีเวลาสร้างความรับรู้อย่างเพียงพอจึงทำให้เกิดความตระหนกและอาจส่งผลกระทบ รวมถึงให้เจ้าหน้าที่มีเวลาในการเตรียมการจึงจำเป็นต้องออกมาตรการชั่วคราวช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ใน 4 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 101 ,102,119 และ 122 ออกไปเป็นวันที่ 1 ม.ค.2561
ระหว่างนี้ กรณีแรงงานข้ามชาติที่ต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือ เดินทางกลับเข้ามาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ได้รับการยกเว้นการดำเนินการเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและยังห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อแสวงผลประโยชน์ หากพบต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยนายกรัฐมนตรี ยืนยันด้วยว่า ระหว่างบังคับใช้ตามมาตรา 44 จะไม่ยอมให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ใด ๆ
ส่วนกรณีที่ทางการกัมพูชา ได้ปิดชายแดนบริเวณบันเตียเมียนเจยในช่วงนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นการปิดช่องทางทางธรรมชาติ ถือเป็นเรื่องดี ที่จะช่วยป้องกัน การลักลอบสินค้าหนีภาษี และไม่ใช่เป็นผลมาจาก การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการ การทำงานของแรงงานต่างด้าว หลังการประชุม คณะรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางาน ได้แถลงย้ำถึงความจำเป็นในการออกพระราชกำหนดเพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยยังคงต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งต้องมีการจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติให้เป็นไปตามสากล
ส่วนบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรงนั้นเพราะเป็นกฎหมายชุดเดียวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ฉบับ แต่ระหว่างนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ไปพิจารณาเรื่องบทลงโทษ หรือ มาตราอื่นใด ภายใน 4 เดือนว่า จำเป็นต้องปรับปรุงส่วนใดหรือไม่ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลดำเนินการต่อภายใน 2 เดือน
ขณะที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากนี้ไปจะปรับปรุงการอำนวยความสะดวกแก้สถานประกอบการในการติดต่อขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างหรือรับทราบข้อมูล พร้อมทั้งเร่งทบทวนการออกกฎหมายโดยเร็ว
ในมุมมองภาคเอกชนบ้างหลังจากที่ คสช. เห็นชอบให้ใช้มาตรา 44 ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 180 วัน เพื่อให้ผู้ประกอบการ และแรงงานข้ามชาติปรับตัวและขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง โดยคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน เปิดเผยว่าค่อนข้างพอใจ แต่ในเรื่องอัตราโทษก็ยังมองว่าสูงเกินไปอยู่
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การชะลอบังคับใช้ 4 มาตราของ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวออกไป เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยให้มีเวลาปรับตัวทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวก็ต้องปรับตัวให้เกิดกระบวนที่รวดเร็วขึ้น เช่น ขั้นตอนดำเนินเอกสารต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกต่อนายจ้างและแรงงาน
นอกจากนี้อยากให้พิจารณาโครงสร้างต้นทุนแรงงานที่จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งนับว่ามีค่าใช้จ่ายอยู่ไม่น้อยสำหรับเอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็จะนำไปสู่การประเมินค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น
ด้านนายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ริชชี่ เฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า การชะลอบังคับใช้4มาตราของ พ.ร.ก. ส่งผลดีในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะผู้ประกอบการจะมีเวลาปรับตัว และเตรียมจัดหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ต้องการให้เกิดการพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายกับการขึ้นทะเบียนแรงงานเพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้เกิดการขึ้นทะเบียนแรงงานถูกกฎหมายเข้าระบบ มากขึ้น รวมถึงปรับเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดรับกับความเป็นจริงมากขึ้น เช่น แรงงานก่อสร้าง ซึ่งโดยทั่วไปเป็นแรงงานที่ต้องเคลื่อนย้ายไปตามไซต์งานในเขตต่างๆ อยู่แล้ว ก็อาจปรับรายละเอียดเรื่องการขยายเขตแรงงานเพื่อให้สะดวกต่อการทำงานก่อสร้างตามสภาพความเป็นจริงมากขึ้น
นายปรีดี ดาวฉาย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เปิดเผยว่า ภาคเอกชนค่อนข้างพอใจกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจ ม.44 ชะลอเวลาใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวนี้ ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวนำแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากสามารถนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น น่าจะทำให้ประเทศไทยหลุดจากการจัดอันดับเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ของสหรัฐ ที่ปัจจุบันอยู่ในเทียร์ 2 ได้เร็วขึ้น
นายปรีดี กล่าวอีกว่า ขณะนี้อาจจะยังตอบไม่ได้ว่าการขยายเวลาแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเพิ่มเป็น 180 วัน เป็นเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะจะต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาล เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 1 ล้านคน
เช่นเดียวกับนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า ตอนนี้จึงยังไม่สามารถประเมินได้ว่าระยะเวลา 180 วัน ที่ คสช.ใช้ ม.44 ชะลอการบังคับใช้กฎหมายนั้น จะเพียงพอกับการดำเนินการขึ้นทะเบียนหรือไม่