ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์ปัจจัยน้ำท่วมสกลนคร-ฝนตกหนัก-แก้มลิงธรรมชาติหาย

ภัยพิบัติ
30 ก.ค. 60
15:54
13,475
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ปัจจัยน้ำท่วมสกลนคร-ฝนตกหนัก-แก้มลิงธรรมชาติหาย
กนช.-นักวิชาการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงน้ำท่วมเมืองสกลนคร หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ มาจากฝนตกหนัก พื้นที่แก้มลิงหาย ไร้การเตือนภัย ขณะที่แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมจีสด้า วันที่ 30 ก.ค.พบพื้นที่น้ำท่วมเป็นที่ราบต่ำ การเกษตรและริมแม่น้ำสายหลัก

วันนี้ (30 ก.ค.2560) นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.บอกว่า จากการประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จีสด้า พบว่าพื้นที่น้ำท่วมใน 4 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร และกาฬสินธุ์ ภาพรวมเบื้องต้น มีพื้นที่ความเสียหายจากน้ำท่วมนับล้านไร่ และสัดส่วนเป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่แก้มลิงเป็นส่วนใหญ่ 

โดย ปัจจัยที่น้ำท่วมอีสานรอบนี้มาจากปริมาณฝนที่ตกหนัก แม้ว่าฝนจะกระจายตกในหลายจังหวัดของภาคอีสาน แต่ต้องยอมรับว่าหลายจังหวัดเช่น กาฬสินธุ์ สกลนคร  ไม่มีการป้องกัน หรือรับมือกับน้ำท่วมเหมือนในจังหวัดเสี่ยงอื่นๆ ขณะที่ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเฉพาะพื้นที่แก้มลิงของอีสานที่เรียกว่าป่าบุ่ง ป่าทามมันหายไปมาก เปลี่ยนสภาพรองรับการเติบโตของเมือง น้ำที่หลากลงมา จึงไม่มีทางลง ขณะที่การระบายน้ำออกเมืองสกลนคร เนื่องจากระดับน้ำโขงก็ยังสูงอยู่จึงน่าจะระบายออกช้า และแนะนำว่าถ้าน้ำยังขังในพื้นที่การเกษตร  และยังไม่มีจุดระบาย รัฐควรต้องยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกร 

นายอานนท์ บอกว่า หลังจากนี้ กนช.ควรต้องมองในภาพรวม และหาเจ้าภาพหลัก นำข้อมูลที่เป็นปัจจุบันทุกอย่างมาพิจารณาอย่างเป็นระบบ ทั้งการใช้ที่ดิน ลักษณะภูมิประเทศ อุปสรรคต่างๆ เช่น การระบาย การกีดขวางทางน้ำ เพื่อวางมาตรการแก้ปัญหา ซึ่งไม่ควรโยนให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะกรณีน้ำท่วมสกลนคร ไม่ต่างกับน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

 

"จีสด้า"เปิดภาพถ่ายดาวเทียมน้ำท่วม 4 จังหวัด

ขณะที่จิสด้า เผยภาพแผนที่จากดาวเทียม COSMO-Skymed-3 ของวันที่ 30 ก.ค.เพื่อติดตามพื้นที่น้ำท่วมบางส่วนของ จ.อุดรธานี หนองคาย สกลนคร และกาฬสินธุ์ โดยข้อมูลจากภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นพื้นที่น้ำท่วมขัง (สีฟ้า) ส่วนใหญ่เป็นบริเวณพื้นที่ราบต่ำ และพื้นที่ลุ่มการเกษตร บริเวณริมแม่น้ำสายหลักและลำน้ำย่อย ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวทางจิสด้า จะได้ส่งให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการติดตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวจากแผนที่น้ำท่วมจากข้อมูลจากดาวเทียมที่เว็บไซต์ http://flood.gistda.or.th, www.gistda.or.th 

 

 

นักวิชาการ ชี้การเตือนภัย "จุดบอด"

 

ผศ.ดร.ยรรยงค์ อินทร์ม่วง คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหา สารคาม บอกว่า สาเหตุหลักๆมาจากปริมาณน้ำฝน ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการเคลื่อนตัวที่ช้ามากของร่องฝนทำให้มีน้ำฝนตกมากผิดปกติเกินจุดเฉลี่ยรายปี ในรอบ 30 ปีซึ่งฝนตกบริเวณกว้างมากในไทย โดยเฉพาะพื้นที่อีสานตอนบน กาฬสินธุ์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร เกือบทั้งภูมิภาค ทำให้ระบบแม่น้ำที่มีรับไม่ไหวจึงเกิดน้ำท่วมบริเวณกว้างหลายพื้นที่

อย่างในพื้นที่ จ.สกลนคร คือ น้ำจากเทือกเขาภูพาน ที่ไหลลงมาท่วมตัวเมืองสกลนครมีลักษณะเป็นแอ่ง ถึงโครงสร้างการระบายน้ำในเมืองตามท่อขนาดเล็ก แต่มาพูดถึงการระบายน้ำตามลำน้ำ ร่องน้ำตามธรรมชาติ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาการเตือนภัยการสื่อสารน้อยมาก สนใจแค่กรุงเทพฯ แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียว ไม่สนใจพื้นที่ภาคอีสานเลย มันเป็นเรื่องการเหลื่อมล้ำด้านการพยากรณ์อากาศ หลายๆอย่าง แค่ให้องค์กรหน่วยงานท้องถิ่นดำเนินการตามศักยภาพก็ได้น้อยเพราะเครื่องมือหนัก อุปกรณ์ต่างๆไม่พร้อม ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการบริหารงานที่ไม่กระจายอำนาจเรื่องภัยพิบัติ เพราะไปอยู่ส่วนกลางทั้งหมด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง