วันนี้ (10 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เส้นทางใหม่ของรถโดยสารจะปรับเป็น 269 เส้นทาง เน้นการเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย โดยแบ่งพื้นที่ตามเขตการเดินรถเดิมของ ขสมก.ออกเป็น 4 พื้นที่ใหญ่และระบุสีเพื่อแสดงแทนแต่ละพื้นที่ เป็นตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษ และตามด้วยหมายเลขรถ ซึ่งจะการเริ่มทดลองเดินรถใน 8 เส้นทาง เส้นทางละ 5 คัน ควบคู่ไปกับการเดินรถในเส้นทางเดิมระหว่างวันที่ 15 สิงหาคมจนถึง 15 กันยายนนี้ ตั้งแต่เวลา 06.30-18.30 น. เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้โดยสารและสรุปผล
ขณะที่ผู้โดยสารบอกว่ากังวลเรื่องเส้นทางที่จะเปลี่ยนแปลง และยังไม่มีหลักประกันใดว่าการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ครั้งนี้ จะส่งผลให้รถเมล์มาตรงเวลา และค่าโดยสารอาจเพิ่มขึ้นหากต้องต่อรถ เพราะทุกวันนี้นั่งรถเมล์สาย 26 เสียค่าโดยสารอยู่ที่ 6.50 บาท
ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก และทีดีอาร์ไอจะนำข้อมูลและข้อคิดเห็นจากการนำร่องปฏิรูปรถเมล์ 8 เส้นทาง มาประมวลผลและสรุปแนวที่เหมาะสม โดยเส้นทางใดมีเสียงผลตอบรับดี ก็จะเดินหน้าให้บริการต่อและใช้เป็นแนวทางการปฏิรูปเส้นทางที่เหลือ
ส่วนเส้นทางไหน มีเสียงตอบรับไม่ดีก็จะทบทวนและหาแนวทางใหม่ โดยหลังนำร่อง 8 เส้นทางแรกแล้วจะมีการนำร่อง เพิ่มอีก 7-10 เส้นทางภายในปีนี้ พร้อมกันนั้นเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดทำราคาค่าโดยสารกลาง เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดค่าโดยสารใหม่ 269 เส้นทาง ให้คุ้มกับต้นทุนผู้ประกอบการก่อนเปิดเดินรถเส้นทางใหม่