ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคประชาชน จ.พังงา เรียกร้องตรวจสอบ "นักธุรกิจ-ชาวต่างชาติ" รุกหาดท้ายเหมือง

ภูมิภาค
15 ส.ค. 60
12:32
825
Logo Thai PBS
ภาคประชาชน จ.พังงา เรียกร้องตรวจสอบ "นักธุรกิจ-ชาวต่างชาติ" รุกหาดท้ายเหมือง
เครือข่ายภาคประชาชน อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินในหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงกว่า 1,000 ไร่ เนื่องจากพบว่ามีนักธุรกิจและชาวต่างชาติปลูกบ้านพักตากอากาศกว่า 10 หลังบนพื้นที่ติดชายทะเล

วันนี้ (15 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ้านพักตากอากาศ พร้อมสระว่ายน้ำกว่า 10 หลัง ราคาหลายล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหาร และอาคารให้เช่าอีกจำนวนมาก บริเวณหน้าชายหาดท้ายเหมือง พื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งเครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าการก่อสร้างและการใช้ประโยชน์เป็นไปตามระเบียบของทางราชการหรือไม่

นายสาคร อินทราช และนางวันณา จินดา สองสามีภรรยา เล่าให้ทีมข่าวไทยพีบีเอสฟังว่า เคยปลูกเพิกพักเพื่ออาศัยทำกิน ปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์และมะพร้าวในที่แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2519 โดยปี 2527 และปี 2528 ทางราชการ ประกาศให้ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยต้องชำระค่าเช่า ตนและภรรยาได้จ่ายค่าเช่าตามระเบียบของราชการ แต่เมื่อปี 2545 กลับถูกฟ้องดำเนินคดี ข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่อีกหลายคน บอกว่า ยังไม่มีที่ดิน ปลูกบ้านเป็นของตัวเอง ปัจจุบัน ยังต้องเช่าบ้านเขาอยู่ ที่ผ่านมายอมรับว่าเคยพยายามเข้าไปจับจองพื้นที่ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีบุคคลอื่นจับจองไปหมดแล้ว

นายสมคิด บุญสนอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.ท้ายเหมือง ยอมรับว่าการบุกรุกพื้นที่ นสล.หรือหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี ในอดีต ผู้บุกรุกส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยและทำการเกษตร แต่ต่อมามีการขายสิทธิครอบครองกันเป็นทอดๆ ปัจจุบันพื้นที่ที่ติดชายทะเลส่วนใหญ่เป็นบ้านพักของชาวต่างชาติ

นายทนงศักดิ์ ทองกุล ที่ปรึกษากฎหมายสภาองค์กรชุมชน จังหวัดชายฝั่งอันดามัน กล่าวว่า การบุกรุกและขายสิทธิครอบครอง รวมทั้งการปลูกสร้างอาคารบ้านพักทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ในที่ดินของรัฐ ไม่สามารถทำได้ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาต้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับนโยบาย ร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสม และเชื่อว่าระดับท้องถิ่นไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงซ้อนที่เกิดขึ้นมานานและผูกโยงกันในหลายมิติ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง