วันนี้ (16 ส.ค.2560) นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงแนวทางบูรณะพระปรางค์ ปรางค์ทิศ และพระมณฑป วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ว่า ได้ติดตามการดำเนินงานบูรณะอย่างใกล้ชิด โดยศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอนุรักษ์เพื่อออกแบบบูรณะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมให้มากที่สุด ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัสดุ การทาสีน้ำปูนองค์พระปรางค์จนเห็นเป็นสีขาว เป็นสีปูนหมักธรรมชาติและทำขั้นตอนการบูรณะตามแบบแผนของช่างฝีมือดั้งเดิมให้มีสีใกล้เคียงกับการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ขณะที่การทำความสะอาดคราบตะไคร่น้ำ ทำให้เส้นรอบนอกของลวดลายกระเบื้องเด่นชัดขึ้น ส่วนกระเบื้องสีที่นำขึ้นไปประดับบนองค์พระปรางค์ เป็นการซ่อมเปลี่ยนแทนวัสดุเดิมที่ร่วงหล่น แต่ที่สภาพดีอยู่ก็จะคงไว้ เพื่อรักษาความเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติที่มีชีวิต
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเพิ่มเติมว่า เศษกระเบื้องเดิมที่ชำรุดใช้งานไม่ได้ ร้อยละ 40 หรือ ประมาณ 120,000 ชิ้น จากกระเบื้องทั้งหมดที่ประดับพระปรางค์กว่า 300,000 ชิ้น โดยส่งมอบให้เป็นสิทธิ์ของวัดอรุณฯ นำไปดำเนินการต่อตามสมควร แต่ยืนยันว่ากรมศิลปากรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเศษกระเบื้องไปทำเป็นวัตถุมงคลอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต
กรมศิลปากรได้จัดทำจดหมายเหตุการบูรณะอย่างละเอียด เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับทางวัดอรุณฯ ที่มีโครงการใช้ศาลาเก้าห้อง หรือศาลารายรอบพระปรางค์ เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการการบูรณะพระปรางค์ ทั้งประวัติการบูรณะที่ผ่านมา การออกแบบบูรณะ วัสดุดั้งเดิม วัสดุที่ใช้ในการบูรณะ และวิธีการที่ใช้ในการบูรณะ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ย้อนบันทึกครึ่งศตวรรษ บูรณะพระปรางค์ วัดอรุณฯ