วันนี้ (22 ส.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.แถลงว่าที่ประชุมมีมติ 4 ต่อ 2 ให้ส่งความเห็นแย้งต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อตั้งตั้งกรรมาธิการวิสามัญ หรือ กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่มาตรา 267 วรรค 5 กำหนดไว้
โดยหนึ่งในมาตราที่จะส่งความเห็นแย้งคือ มาตรา 60 ที่กำหนดให้ประธาน กสม.และ กสม.ชุดปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งในวันที่กฎหมายประกาศบังคับใช้ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่นั้น ชี้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับ
ปัจจุบันตามมาตรา 26 มาตรา 3 และ 4 ซึ่งในการประชุมสัปดาห์หน้าจะพิจารณามาตราอื่นๆ เพิ่มเติม และพร้อมที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในประเด็นดังกล่าวในภายหลังด้วย
ประธาน กสม.ได้กล่าวด้วยความเห็นส่วนตัวว่า การเซ็ตซีโร่ กสม.ยกชุด อาจเป็นเพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่พอการทำงานของ กสม.บางคน จึงอยากล้มทั้งคณะเนื่องจากไม่สามารถรอให้คนใดคนหนึ่งพ้นตำแหน่งได้
นายวัสยังยืนยันด้วยว่า ข้อกล่าวหาที่ กรธ.ระบุว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบันทำให้คณะกรรมการทั้งชุดถูกปรับลดสถานะ จาก A เป็น B ขัดต่อหลักการปารีส หากให้ กสม.ชุดปัจจุบันอยู่ต่อ อาจจะทำให้เกิดปัญหานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการเซ็ตซีโร่ ถือเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก พร้อมยืนยันว่า กสม.ชุดนี้มีผลงานและเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศและเชื่อว่า หากทำงานต่อไป กสม.ไทยจะได้รับการยอมรับและสถานะ A กลับมาอีกครั้ง
กสม.ได้รับร่างกฎหมายลูกจาก สนช.ลงวันที่ 21 สิงหาคม และจะส่งความเห็นแย้งไปยัง สนช.ภายใน 10 วัน นับแต่ได้รับเรื่องตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ในฐานะประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง นายวัส ติงสมิตร จึงเป็นหนึ่งในกรรมธิการร่วมฯ ชุดนี้