วันนี้ (6 ก.ย.2560) ที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย นำข้อมูลเครดิตบูโรมาตีแผ่ เเละชี้ให้เห็นถึงปัญหาการก่อหนี้ของคนอายุน้อย และผู้สูงอายุวัยหลังเกษียณ หลังพบกลุ่มนี้ยังมีหนี้สะสมสูง และหนี้เสียจำนวนมาก
หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาสแรก ของปี ที่ร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี ในจำนวนนี้ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร พบว่า หนี้จากกลุ่มคนเพิ่งเรียนจบ และทำงานไม่นาน อายุประมาณ 20-36 ปีเพิ่มขึ้น โดยมียอดหนี้รวมกันสูงกว่า 2.13 ล้านล้านบาท และยังเป็นหนี้เสีย ที่ค้างจ่ายเกิน 3 เดือน ประมาณร้อยละ 20
โสมรัศมิ์ จันทรรัตน์ หน.กลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ข้อมูลจากบิ๊กเดต้า ของเครดิตบูโร ระหว่างเดือนธันวาคม 2552-กรกฎาคม 2559 เอกซ์เรย์พฤติกรรมการกู้ของคนไทย เพื่อหวังให้รัฐบาล ประเมินสถานการณ์และวางนโยบายได้อย่างเหมาะสม และตรงจุด
โดยปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ คือ การที่รัฐบาลออกนโยบายรถคันแรก อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งผลักให้คนกลุ่มเจนวาย เริ่มก่อหนี้กับสถาบันการเงิน แต่การขาดทักษะการเงินส่วนบุคคลที่ดีพอและรายได้ไม่แน่นอน ทำให้เป็นกลุ่มคนนี้ มีหนี้เสียสูงถึงร้อยละ 37
ประกอบกับ โปรโมชั่นดาวน์ต่ำ ผ่อนนาน ของร้านค้า ที่ร่วมกับสถาบันการเงิน ทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นสวนทางกับสัดส่วน การก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน ที่บ่งชี้ว่า คนไทยเข้าถึงสินเชื่อประเภทนี้ เพียงร้อยละ 10 ทั้งที่ การก่อหนี้ประเภทนี้ เป็นสินทรัพย์ที่จำเป็น และสะท้อนความมั่นคงของชีวิตและรายได้
อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าตกใจ คือ 1 ใน 10 ของคนไทย ที่เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงิน เป็นหนี้กับธนาคาร 5 แห่ง และ1 ใน 6 คน มีสัญญาเงินกู้ มากถึง 5 สัญญา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคนกลุ่มเจนวาย ในกรุง เทพ และจังหวัดหัวเมืองต่างๆ ซึ่งขอสินเชื่อส่วนบุคคล หรือเงินด่วน บ้างกู้ซื้อรถยนต์บ้างซื้อรถมอร์เตอร์ไซด์ เนื่องจาก เป็นสินเชื่อที่เข้าถึงง่าย หลักเกณฑ์การพิจารณาผ่อนปรน มากกว่า สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน
นอกจากกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี ที่มีประวัติเป็นเอ็นพีแอล ทีมวิจัย ยังมีความเป็นห่วงสถาน การณ์คนวัยหลังเกษียณในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นหนี้พอกพูนจากการกู้เงินทำการเกษตรสะสมมานานและต่อเนื่อง ไม่นับหนี้ใหม่ ที่จำเป็นต้องกู้ เมื่อประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ หรือโรคแมลงต่างๆ อีกด้วย