วันนี้ (8 ก.ย.2560) ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ "Thon Thamrongnawasawat" โดยระบุ ถึงกรณีการตรวจสอบจระเข้เลพังที่ตรวจอบบริเวณหาดเลพัง จ.ภูเก็ต โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่จากกรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิชาการ เดินทางที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่ง เพื่อร่วมตรวจสุขภาพจระเข้เลพัง รวมถึงตรวจสายพันธุ์ เพศ และดีเอ็นเอ คาดว่าจะทราบผลตรวจภายใน 1-2 สัปดาห์
ผศ.ธรณ์ ระบุว่า หากพบเป็นจระเข้สายพันธุ์ธรรมชาติแท้จะต้องปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งอาจต้องมีการหารือร่วมกันว่าเป็นบริเวณใด แต่หากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมก็จะเปลี่ยนที่อยู่อาศัยเป็นแบบกึ่งธรรมชาติ และหาสถานที่อยู่ที่มีความเหมาะสมต่อไป
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า จากการตรวจสุขภาพ พบว่าสุขภาพแข็งแรงดี และจากการวิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมที่กินปลาเป็นอาหาร และจากเกล็ดภายนอกของจระเข้ พบว่าเป็นจระเข้ที่อยู่ในธรรมชาติ ที่ไม่ได้อยู่ในบ่อเลี้ยงอย่างแน่นอน แต่ต้องรอผลดีเอ็นเอให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นสายพันธุ์แท้ หรือ สายพันธุ์ผสม เนื่องจากจะเป็นปัจจัยหลักที่จะนำมาใช้วางแผนแนวทางการดูแลที่เหมาะสมต่อไป
จระเข้เลพังเป็นจระเข้น้ำเค็มตัวผู้ ความยาว 2.8 เมตร ถูกเจ้าหน้าที่ ชุดไกรทองลุ่มแม่น้ำตาปี ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และชาวประมงพื้นบ้านคลองปากบาง ป่าตอง อ.กะทู้ ร่วมกันจับได้บริเวณขุมเหมืองใกล้กับหาดเลพัง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา และนำมาไว้ในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงประมงชายฝั่ง