วันนี้ (11 ก.ย.2560) ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี 14 คน พร้อมด้วยนายสมชาย อามีน ทนาย ความ เดินทางมที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรอลุ้นฟังคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีชาวบ้าน 151 คนยื่นฟ้อง บ.ตะกั่วคอนเซนเตรท (ประเทศไทย) ฐานละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่ปล่อยปละละเลยให้สารตะกั่ว ปนเปื้อนลงในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค เป็นผลให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ชีวิต
ก่อนหน้านี้ในปี 2555 ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ บ.ตะกั่วคอนเซนเตรทฯ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวม 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้องร้องคือในปี 2550 ก่อนที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ในชั้นฎีกา
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์กะเหรี่ยงและพัฒนา บอกว่า ศาลฎีกาพิพากษา ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน ฐานละเมิดพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ปล่อยปละเลยให้สารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ จำนวนกว่า 36 ล้านบาท พร้อมกับมีคำพิพากษาเพิ่มเติมให้ผู้จัดการบริษัท กรรมการบริษัทรวม 7 คนต้องมาร่วมรับผิดชอบ รวมทั้งต้องเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว
"เป็นระยะเวลากว่า 19 ปีที่ตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่วปริมาณมหาศาลที่รั่วไหลมาจากโรงแต่งแร่ ทำให้เจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิต การฟ้องร้องดำเนินคดีของชาวบ้าน 151 คนกับบริษัทผู้ก่อมลพิษในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพิสูจน์บทบาทของกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของไทย ในการเยียวยาความทุกข์ของชาวบ้านคลิตี้ล่าง และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับความเป็นธรรม ต่อเนื่องจากคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายของชาวบ้าน 8 คน และคดีปกครองฟ้องกรมควบคุมมลพิษให้ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก่อนหน้านี้ให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายชนะคดี" นายสุรพงษ์ ระบุ
ย้อนรอยคดี 19 ปีผลกระทบตะกั่วคลิตี้
สำหรับคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 2659/2550 หมายเลขแดงที่ 1290/2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ระหว่าง นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ที่ 1 กับพวกรวม 151 คน (โจทก์) กับ บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน (จำเลย) ในข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2550 เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,041,952,000 บาท และขอให้จำเลยรับผิดชอบในการฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้
วันที่ 20 ธ.ค.2553 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีมีคำพิพากษา ให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง 151 คน เป็นเงินรวมกันทั้งสิ้น 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง จากการที่จำเลยปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชาวบ้าน จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรัง และไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้เหมือนเดิมและให้จำเลยดำเนินการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไป หากจำเลยไม่ยอมดำเนินการ ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษา ยืนตามศาลชั้นต้น ในประเด็นเรื่องการกำหนดค่าเสียหาย แต่ในประเด็นเรื่องการฟื้นฟูลำห้วย ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ได้บัญญัติให้ประชาชนทั่วไปเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับเอกชนผู้ก่อมลพิษดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูลำห้วยได้โดยตรง แต่เป็นอำนาจของกรมควบคุมมลพิษที่จะบังคับตามกฎหมายให้ผู้ก่อมลพิษฟื้นฟูลำห้วย หากผู้ก่อมลพิษไม่ทำ
กรมควบคุมมลพิษก็มีอำนาจฟ้องศาลขอให้บังคับผู้ก่อมลพิษให้ทำได้ โจทก์จึงยื่นฎีกาในประเด็นสิทธิของชาวบ้านในการฟ้องขอให้ศาลสั่งให้เอกชนผู้ก่อมลพิษทำการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน อันเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่จะอ่านในวันนี้
ในขณะที่ฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องอ้างว่าการรั่วไหลของสารตะกั่วจากโรงแต่งแร่เป็นเหตุสุดวิสัย และผู้บริหารของบริษัทไม่จำต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการส่วนตัวร่วมกับตัวบริษัทที่เป็นนิติบุคคล
ทั้งนี้ นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลอีก 2 คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก่อนหน้านี้ คือ คดีแพ่งที่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 8 คน เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย โดยศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 ให้ให้บริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 20,200,0000 บาท และให้แก้ไขฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย จนกว่าลำห้วยคลิตี้จะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ ตามมาตรฐานของทางราชการและให้สงวนสิทธิแก้ไขคำพิพากษาในส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย และค่าเสียหายเพื่อการประกอบการงานของโจทก์ทั้ง 8 ภายในระยะเวลา 2 ปี
และอีกหนึ่งคดีคือ คดีปกครองที่ชาวบ้านฟ้องกรมควบคุมมลพิษฐานละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูขจัดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายจนถึงปัจจุบัน จึงพิพากษากำหนดให้กรมควบคุมมลพิษต้องปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยต้องกำหนดแผนการฟื้นฟู และตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยทุกฤดูกาลจนกว่าจะไม่เกินค่ามาตรฐาน พร้อมทั้งปิดประกาศผลการตรวจให้ชุมชนทราบ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายต่อสิทธิในการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นเงินรวมเกือบ 4 ล้านบาทด้วย