จากกรณีปัญหาช้างป่าในพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่ออกมากัดกินพืชผลทางการเกษตรจนชาวบ้านได้รับความเสียหายมาต่อเนื่องอย่างน้อย 10 กว่าปีที่ผ่านมา และไม่ได้รับการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และในบริเวณแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณบ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามหาวิธีป้องกันช้างเข้ามาหากินในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน โดยทำการขึงลวดไฟฟ้าไว้บริเวณรอบไร่ เพื่อป้องกันช้างป่าไม่ให้เข้ามากัดกินพืชไร่ของตนเอง ส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าขนาด 9 โวลท์ เมื่อช้างป่าเข้าป่าก็จะเกิดอาการสะดุ้งและไม่เข้าไป แต่ดูเหมือนไม่ได้ผลมากนักเพราะช้างป่าเกิดการเรียนรู้ด้วยธรรมชาติ จึงสามารถฝ่าด่านลวดที่ขึงไว้เข้ามากัดกินพืชไร่จนได้รับความเสียหายตลอดเรื่อยมา
ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และฝ่ายปกครองจึงออกมาตรการป้องกันปัญหาการใช้ลวดไฟฟ้า โดยทำการตรวจสอบแต่ละไร่ และให้ทำการเก็บลวดไฟฟ้าที่ใช้ขนาด 220 โวลท์ออกจากไร่ให้หมด และในพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปรับแนวทางการป้องกันมาเป็นการสร้างแนวรั้วกันช้างกึ่งถาวร นำมาใช้ซึ่งเป็นรั้วปูนที่ฝังลงไปในพื้นดิน และใช้ลวดขนาดใหญ่ขึงเป็นแนวป่าที่จะเข้าหมู่บ้าน เบื้องต้นแนวรั้วดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ เนื่องจากยังคงขาดแคลนงบประมาณจากภาครัฐ รวมทั้งยังได้มีการขยายผลนำไปใช้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี
ปัจจุบันแนวคิดแนวรั้วกันช้างกึ่งถาวรถูกนำไปใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จเนื่องจากแนวรั้วดังกล่าวต้องใช้งบประมาณนับ 100 ล้านบาท จึงกลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ที่ยังไม่สามารถป้องกันช้างป่าได้