วันนี้ (26 ก.ย.2560) นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ออกมาตรการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIPs) เพื่อให้มีความสามารถในการรองรับความเสียหายจากการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพ และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยเงินฝากของประชาชนไม่ถูกกระทบและจะยิ่งมั่นคงมากขึ้น เพราะเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินโดยรวม
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน กล่าวว่า ในการกำหนดธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ ธปท.พิจารณาปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ ขนาดของสถาบันการเงิน, ความเชื่อมโยงในการทำธุรกรรมระหว่างกัน, การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญหรือการเป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน และความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือกระบวนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ผู้กำกับดูแลในต่างประเทศใช้
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้นมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มจากอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีก 1% ภายในปี 2563 โดยให้ทยอยดำรงเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.5% ในปี 2562 และปี 2563 ตามลำดับ รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ การรายงานข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบทุกแห่งมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราที่ ธปท.กำหนดมาก และเพียงพอรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามมาตรการดังกล่าว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ธปท.คุมเข้ม 5 ธนาคารพาณิชย์ เหตุมีนัยความเสี่ยงเชิงระบบประเทศ