วอชิงตันดี.ซี.--วันที่ 26 กันยายน เว็บไซต์ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่าประธานาธิบดีทรัมพ์จะให้การต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ในวันที่ 3 ตุลาคม เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์อันดีและหารือแนวทางพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคีกับประเทศไทย แต่หลังจากนั้นเพียงสองวัน ทำเนียบขาวก็แจ้งเปลี่ยนกำหนดการกะทันหัน ระบุว่า การพบกันของผู้นำทั้งสองจะมีขึ้นในวันที่ 2 ตุลาคม "ไม่ใช่วันที่ 3 ตุลาคมตามที่ประกาศไปตอนแรก" โดยไม่ได้บอกสาเหตุ แต่คาดว่าน่าจะเป็นเพราะประธานาธิบดีทรัมพ์จะเดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบภัยจากพายุเฮอริเคนมาเรียที่เปอร์โตริโกในสัปดาห์นี้
ประธานาธิบดีทรัพม์ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในเปอร์โตริโก ซึ่งเป็นเครือรัฐของสหรัฐฯ เพราะขณะที่ชาวเปอร์โตริโกกำลังลำบาก ผู้นำสหรัฐฯ กลับโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์วิจารณ์นักฟุตบอล NFL ที่ประท้วงการเหยียดเชื้อชาติด้วยการคุกเข่าระหว่างเคารพธงชาติก่อนการแข่งขันว่าเป็นการแสดงถึงความไม่รักชาติ
ทั้งผลกระทบจากเฮอริเคนมาเรียและสถานการณ์การเมืองในประเทศและระหว่างประเทศที่ร้อนระอุ โดยเฉพาะความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้สื่ออเมริกันในกรุงวอชิงตันดี.ซี.ส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่าการเยือนสหรัฐฯ ของพล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในสหรัฐฯ มากนัก
เรเชล ออสวอลด์ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาของหนังสือพิมพ์ Congressional Quarterly บอกว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤตหลายอย่างทั้งเฮอริเคนมาเรียและความตึงเครียดจากนโยบายเหยียดเชื้อชาติ เธอจึงไม่คิดว่าสื่อจะให้ความสนใจเนื้อหาการหารือทวิภาคีกับระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับประธานาธิบดีทรัมพ์สักเท่าไหร่
"แต่ก็อาจจะมีนักข่าวถามเรื่องนโยบายของสหรัฐฯ ต่อไทยและสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยบ้าง เช่น รัฐบาลทหารจะคืนอำนาจให้ประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ซึ่งเราก็พอจะเห็นท่าทีของประธานาธิบดีทรัมพ์แล้วว่าเขาไม่ได้สนใจเรื่องของประชาธิปไตยในประเทศอื่น เพราะฉะนั้นเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนคงไม่ใช่ประเด็นที่ผู้นำสหรัฐฯ จะพูดถึงในการพบกันครั้งนี้" เรเชลวิเคราะห์
จอช เกอร์สไตน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Politico เว็บไซต์ข่าวการเมืองชื่อดังของสหรัฐฯ เห็นตรงกันว่า ในการแถลงข่าวร่วมของผู้นำทั้งสองอาจมีนักข่าวถามเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของไทยบ้าง แต่เขาเชื่อว่านักข่าวส่วนใหญ่จะถามประธานาธิบดีทรัมพ์เกี่ยวกับเรื่องการเมืองในสหรัฐฯ
"หลายครั้งที่การแถลงข่าวร่วมระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับผู้นำประเทศที่มาเยือนกลายเป็นเวทีที่นักข่าวยิงคำถามประธานาธิบดีเรื่องการเมืองในประเทศ หรือแม้แต่ถามเรื่องข้อความในทวิตเตอร์ที่ประธานาธิบดีโพสต์ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยไม่สนใจผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ จนประเด็นการหารือทวิภาคีถูกกลบไป"
จอชบอกว่าเขาสนใจท่าทีของประธานาธิบดีทรัมพ์ต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยไทย เพราะที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐฯ ไม่เคยแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเลย ซึ่งต่างจากอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาอย่างมาก และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยรู้สึกผิดหวังที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ยืนหยัดปกป้องอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในโลกเท่าที่ควร
โจนาธาน เซแลนท์ ผู้สื่อข่าวจาก New Jersey Advance และอดีตประธานสมาคมผู้สื่อข่าวอเมริกันที่ทำข่าวการเมืองมานานกว่า 30 ปี เห็นต่างออกไป เขาบอกว่าการพบกันของพล.อ.ประยุทธ์และประธานาธิบดีทรัมพ์นั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตาดูและมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)
"ทุกครั้งที่ผู้นำประเทศอื่นเดินทางมาเยือนสหรัฐฯ และพบกับประธานาธิบดีนั้นมีความสำคัญมาก เพราะใช่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะให้ทุกคนเข้าพบ และเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ มากแค่ไหน ผมมองว่านี่เป็นโอกาสที่ทรัมพ์จะสานสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เป็นมิตรกับตะวันตก หลังจากที่เขาประกาศถอนตัวจาก TPP"
เมื่อถามว่าหากเขาอยู่ในการแถลงข่าวร่วมระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับประธานาธิบดีทรัมพ์ที่ทำเนียบขาว เขาจะถามคำถามอะไร โจนาธานบอกว่าเขาอยากถามความเห็น พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการที่ผู้นำสหรัฐฯ ยกเลิก TPP
"ผมอยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่าคิดอย่างไรที่สหรัฐฯ ยกเลิก TPP เขาคิดว่าเป็นผลดีหรือเสียต่อประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเห็นด้วยหรือไม่ที่เป็นการเปิดช่องให้จีนเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคนี้ และผู้นำรัฐบาลไทยคิดว่าถ้าไม่มี TPP จะมีข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอื่นๆ มาทดแทนได้หรือไม่"
ขณะที่ ฟิลิปส์ โครว์ลีย์ อดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลโอบามา ซึ่งผันตัวมาเป็นนักวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน เห็นด้วยว่าการเยือนสหรัฐฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ มีความสำคัญเพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
"การพบกันระหว่างผู้นำไทยและสหรัฐฯ มีความสำคัญเสมอ เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญกับสหรัฐฯ มาก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีหรือทะเลจีนใต้ ดังนั้นการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ย่อมช่วยให้มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมพ์"
สำหรับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมพ์ต่ออาเซียนนั้น อดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าในสมัยรัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญกับอาเซียนมาก เพราะอาเซียนมีศักยภาพที่จะช่วยแก้ปัญหาหลายเรื่องในภูมิภาค เช่น ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้และการต่อสู้ในรัฐยะไข่ของเมียนมา
"อาเซียนเป็นเวทีที่ทำให้สหรัฐฯ มีโอกาสร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และผมก็หวังว่ารัฐบาลทรัมพ์จะเห็นความสำคัญของอาเซียนเช่นเดียวกัน" โครว์ลีย์กล่าวทิ้งท้าย
กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน