เมื่อวานนี้ (3 ต.ค.2560) นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยเกี่ยวกับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกาศร้อยละ 6.3 ยังไม่รวมภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 0.7 ดังนั้น เมื่อรวม 2 ตัวนี้ การจ่ายแวตเท่ากับร้อยละ 7 เหมือนในปัจจุบัน
สำหรับประกาศพระราชกฤษฎีกา ขยายเวลาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ต่ออีก 1 ปี มีเนื้อหาเรื่องการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2561 และให้จัดเก็บร้อยละ 9 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2561 เป็นต้นไป
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงการจัดเก็บแวตที่ร้อยละ 9 หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ว่า อัตราแวตจะเป็นเท่าใด ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล แต่ที่ผ่านมา อัตราแวตในไทยคงระดับร้อยละ 7 มานานหลายสิบปี และได้รับการต่ออายุร้อยละ 7 มาโดยตลอด แต่ตามกฎหมายแล้ว จะต้องจัดเก็บที่ร้อยละ 10 โดยแบ่งให้กรมสรรพากรร้อยละ 9 ส่วนอีกร้อยละ 1 เป็นภาษีท้องถิ่น
สำหรับการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลหวังจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน แม้ว่าการกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีแวตในอัตราปกติที่ร้อยละ 10 จะทำให้รัฐบาลมีรายได้ในปีงบประมาณ 2561 เพิ่มขึ้น 232,000 ล้านบาท แต่กระทรวงการคลังพิจารณาว่าจะส่งต่อราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อการบริโภค การผลิต การนำเข้าและการลงทุนของภาคเอกชนให้ลดลง ทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัว จึงคงอัตราจัดเก็บแวตที่ร้อยละ 7 ต่อไป