วานนี้ (5 ต.ค.2560) ความคืบหน้ากรณีผลกระทบน้ำเสียจากโรงงานเอทานอล ที่ไหลทะลักเข้าท่วมชุมชน และพื้นที่การ เกษตรในเขต อ.ด่านช้าง เดิมบางนางบวช และหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้มีการตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างตัวแทนบริษัทไทยอะโกรเอ็นเนอร์ยี่ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ รวมตัวที่หน้าโรงงาน เพื่อแสดงความไม่พอใจหลังน้ำเสียในบ่อกักเก็บน้ำเสียของโรงงานเอทานอล ล้นทะลักคันกั้นดินพังทำให้น้ำเสียไหลเข้าสู่พื้นที่ 3 อำเภอ จนชาวบ้านเรียกร้องให้ปิดโรงงานถาวร
นายสมชาย โล่ห์วิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ชี้แจงว่า ทางโรงงานขอน้อมรับผิดและขอแสดงความรับผิดชอบกับผู้ได้รับผลกระทบ 600 ครัวเรือน ในวงเงิน 6 ล้านบาทโดยจัดสรรให้ครอบครัวละ 10,000 บาทในเบื้องต้น เพื่อเยียวยาสภาพจิตใจ โดยขอให้ชาวบ้านมาลงทะเบียนรายชื่อในวันนี้ โดยจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ไม่เกินวันที่ 6 ต.ค.นี้ ส่วนเรื่องการชดเชยความเสียหายบ้านเรือนและพืชสวนไร่นา หน่วยงานรัฐกำลังเร่งประเมินความเสียหาย
อัยการสูงสุด เตรียมหาทนายฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม
นายพิภพ บุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและน้ำเสียจากโรงงานในพื้นที่ 3 อำเภอ 7 ตำบล 35 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 2,080 คน 590 ครัวเรือน พืชไร่ 4740 ไร่ นาข้าวจำนวน 2,245 ไร่ สวน 110 ไร่
ขณะที่มีรายงานว่านายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด เตรียมช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน โดยจะรวบรวมข้อมูลให้สภาทนายความช่วยเหลือ โดยใช้ข้อกฎหมายฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล่อมเหมือนกรณีห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี
ก่อนหน้านี้ตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่และสั่งการให้บริษัทไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมด และให้ปรับปรุงแก้ไขบ่อบำบัดน้ำเสียให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้
ชาวบ้านจี้แก้ปัญหาผลกระทบดินปนเปื้อน
ด้านนายบุญชู กาฬภักดี ชาวบ้านสระบัวก่ำ หมู่ 7 ตำบลหนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่กังวลว่า ผลกระทบจากน้ำกากส่า ที่รั่วไหลจากโรงงานอาจกระทบต่อดินและพืชผลที่ได้ลงทุนเพาะปลูก ที่ผ่านมาเคยเจอเฉพาะมลพิษทางกลิ่น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือว่าหนักที่สุด และเกรงว่าน้ำเสียที่ปะปนกับน้ำท่วม อาจตกค้างในดิน ทำให้พืชผลเสียหาย
ด้านนักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่าขณะนี้อยู่ระ หว่างรอเก็บตัวอย่างดินจากชาวบ้านนำไปตรวจสอบว่าน้ำกากส่า มีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ แต่ตามหลักวิชาการน้ำกากส่า หากมีในปริมาณที่เหมาะสมสามารถทำให้พืชเจริญเติบโตได้ แต่หากมีค่าความเค็มเกินกว่า 2 เดซิซีเมนต์ต่อเมตร อาจจะทำให้พืชที่ไม่ทนต่อสภาพความเค็มเกิดอาการเหลืองและแคระแกร็นจนตายได้