วันนี้ (5 ต.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เข้าตรวจสอบร้านสะดวกซื้อย่านเยาวราช กรุงเทพฯ หลังสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านเครื่องกด จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการดำเนินการผิดกฎหมายและอาจทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายหรือไม่
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า พนักงานร้านสะดวกซื้อจะเป็นผู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้ซื้อจะชำระเงินกับพนักงาน ซึ่งไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 30 วรรค 1 การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้เครื่องขายอัติโนมัติ เพราะผู้ซื้อไม่ได้หยอดเหรียญแล้วรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรง ส่วนกรณีที่ตัวเครื่องกดมีเครื่องหมายการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งผิดกฎหมายนั้น พบว่ามีการปรับปรุงแก้ไขด้วยการปิดสัญลักษณ์เครื่องหมายการค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดังกล่าวแล้ว จึงไม่ขัดต่อมาตรา 32 คือ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายและเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการดำเนินคดีในส่วนที่พบการกระทำผิดกฎหมาย
มีรายงานว่า ในปี 2560 ภาพรวมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์มีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งอาจติดลบ ทำให้บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ปรับกลยุทธ์ โดยทำตลาดเบียร์สดที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้ พร้อมเพิ่มช่องทางจำหน่ายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อ เบื้องต้น 20-25 สาขาในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ เช่น จ.ชลบุรี จ.ระยอง จากเดิมที่วางขายตามสถานบันเทิงและร้านอาหารผับ บาร์ ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ เวลา 17.00-24.00 น. ซึ่งการวางขายในร้านสะดวกซื้อถือเป็นการเพิ่มเวลาการขาย จากเดิมที่จะขายเบียร์สดได้ในช่วงค่ำ ตามเวลาเปิดปิดของสถานบันเทิง ก็จะขายอีกช่วง เวลา 11.00-14.00 น.