ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แพทย์แนะขยับร่างกาย-ปรับพฤติกรรมป้องกันออฟฟิศซินโดรม

สังคม
17 ต.ค. 60
21:15
855
Logo Thai PBS
แพทย์แนะขยับร่างกาย-ปรับพฤติกรรมป้องกันออฟฟิศซินโดรม
กรมการแพทย์ ห่วงพนักงานออฟฟิศทำงานต่อเนื่องในอิริยบถเดิม ทำให้ร่างกายไม่ได้ผ่อนคลาย เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะออฟฟิศซินโดรม แนะวิธีออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นปวดคอ บ่า ไหล่และหลัง เป็นผลมาจากการทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ประกอบกับการทำงานด้วยความเร่งรีบจนบางครั้งทำให้ต้องอดอาหาร อดหลับอดนอน หรือนอนดึกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้การที่พนักงานต้องแบกรับความตึงเครียดและความกดดัน ร่วมกับการทำงานในอิริยาบถเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายไม่ได้ผ่อนคลาย เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะออฟฟิศซินโดรม จึงอยากแนะนำการออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพและทุกคนสามารถทำได้นั่นคือ การวิ่ง หรือการเดินเพื่อสุขภาพ รวมถึงการขยับร่างกายระหว่างวันอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับการวิ่ง ท่าวิ่งที่เหมาะสมคือ ควรวิ่งให้หลังตรงและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ศีรษะตรง ตามองตรงไปข้างหน้า ให้ส่วนต่างๆจากศีรษะลงมาหัวไหล่และสะโพกจนถึงพื้นเป็นเส้นตรง ลำตัวไม่โน้มไปด้านหน้าหรือเอนไปด้านหลัง ที่สำคัญก่อนและหลังการวิ่งทุกครั้งควรอบอุ่นร่างกายและผ่อนคลายร่างกายประมาณ 4-5 นาที ด้วยการวิ่งเหยาะๆ
พร้อมกับทำกายบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ขณะที่ระหว่างนั่งทำงานในแต่ละวัน ควรปรับอิริยาบถด้วยการขยับเดินบ้างอย่างน้อย 5-10 นาที หรือขยับปรับเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1-2 ชั่วโมง

 

อธิบดีกรมการแพทย์ ยังแนะนำวิธีปรับพฤติกรรมเพื่อให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม โดยควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ด้วยการขยับร่างกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อระหว่างวัน, การผ่อนคลายลดความเครียด เพราะความเครียดนำมาซึ่งอาการยึดตึงของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน

นอกจากนี้ยังควรปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน เช่น จัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบและสะดวกต่อการหยิบสิ่งของ เลือกเก้าอี้ที่เหมาะสมโดยให้มีพนักพิงที่รองรับแผ่นหลัง รวมทั้งปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย, การรับประทานอาหารให้ตรงมื้อและครบคุณค่าทางโภชนาการ, หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และควรออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 30 นาที เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ห่างไกลโรคและส่งผลให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง