วันนี้ (18 ต.ค.2560) เวลา 17.10 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฤกษ์ระหว่างเวลา 17.19 - 21.30 น. โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับเสด็จ ในการนี้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ โดยเสด็จด้วย
"ฉัตร" เป็นเครื่องสูงใช้ทั้งสำหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ "นพปฎลมหาเศวตฉัตร" ถือเป็นฉัตรสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณ มีความหมายคือ "นพ" แปลว่า "เก้า" เศวต แปลว่า "ขาว" โดยฉัตรของพระมหากษัตริย์จะมีทั้งหมด 9 ชั้น สำหรับการออกแบบนพปฎลมหาเศวตฉัตรในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้นำต้นแบบจากพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
ในการจัดสร้างนพปฎลมหาเศวตฉัตรครั้งนี้ มีความพิเศษคือมีขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ส่วนปลียอดจนถึงยอดสุด 5.10 เมตร "ฉัตร" ทำด้วยผ้าเบาทิ้งตัวสีขาวมีขลิบทองรวมสามชั้น โดยนำผ้าสามผืนมาล้อมโครงในการขลิบทอง เส้นขลิบของฉัตรชั้นล่างมีความหนาที่สุด และแขวนประดับด้วยจำปา 14 ช่อ ห้อยลงมาให้เกิดความสวยงาม ที่บริเวณส่วนยอดของฉัตรได้ดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณีคือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร ต้องมีลักษณะเป็นทรงองค์ระฆังจากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลีปลาย เป็นโลหะทองแดง กลึงรับเพื่อต่อสายล่อฟ้าด้วย ใช้ตาข่ายพลาสติกใส่ไว้ในโครงสร้างเพื่อเวลาที่ฉัตรเจอลมแล้วจะไม่ยุบ ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติ สามารถกลับมาอยู่ที่เดิมและไม่เป็นสนิม
พิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นฉัตรขนาดใหญ่ เป็นการยกตัวฉัตรทั้งหมด ดังนั้นจะต้องประกอบแกนฉัตรเป็นเหล็กและมีก้านออกไปเหมือนร่มกางติดตั้งฉัตรต้องสลักเข้าเดือยให้แน่นหนามีความแข็งแรงสูงสุด โดยเฉพาะปลายฉัตรที่จะต้องทำหน้าที่เป็นสายล่อฟ้า จึงต้องใช้โลหะทองแดงกลึงที่บริเวณส่วนปลายและจะมีสายทิ้งดิ่งยังข้างล่างขณะยกฉัตร ต้องใช้ความระมัดระวังโดยสายทิ้งดิ่งจะตกไม่ได้ ช่างต้องผูกลวดทองแดงเก็บไว้ เมื่อใส่ฉัตรเข้าไปแล้วจะเชื่อมกับสายทองแดงนี้พอดี และยังป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านตรงส่วนร่องตกมาที่ฝ้า โดยช่างได้ใช้สังกะสีกันน้ำฝนไว้เพื่อไม่ให้น้ำรั่วซึมเข้าไปสู่พระเมรุมาศ