วันนี้ (24 ต.ค.2560) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า วันพรุ่งนี้(25 ต.ค.) ได้รับมอบหมายจากนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมด้วยนายณัฐพล รัตนพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล และหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เตรียมลงพื้นที่ไปพูดคุย และหาทางออกในการอนุรักษ์พะยูนที่มูลนิธิอันดามัน หรือ SEVE Andaman Network โดยการหารือครั้งนี้จะมีการเชิญเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ ชาวบ้านในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมองถึงงานการอนุรักษ์พะยูนที่จะต้องร่วมมือกันในอนาคต
เมื่อถามว่าเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เข้ารับฟังคำชี้แจงครั้งนี้หรือไม่ นายปิ่นสักก์ ยอมรับว่า เนื่องจากเป็นการไปพูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์พะยูนอย่างกระทันหัน แต่พร้อมจะมีการชี้แจงในประเด็นต่างที่เกิดความเห็นต่าง ที่ผ่านมาอาจจะมีความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนจากการสื่อสารออกไป และไม่อยากให้มองแบบเหมารวมว่าคนส่วนใหญ่ล่า และฆ่าพะยูนตามที่เป็นข่าว แต่เชื่อว่าปัญหามีอยู่บ้างจึงต้อง การหามาตรการต่างๆในการอนุรักษ์ และล้อมคอกคนเพียงส่วนน้อยที่ทำให้เกิดปัญหา
ชี้รอยตัดหัว-หาง เกิดหลังพะยูนตาย
ขณะที่ผลการชันสูตรซากพะยูน ตัวเมียที่เจอในป่าโกงกาง บริเวณปากคลองโต๊ะขุน ต.เกาะลิบง อ.กัน ตัง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา สภาพซากเน่ามาก กะโหลก และกระดูกชิ้นต่างๆ รวมถึงโคนหางจนถึงปลายหางหายไป เหลือเพียงผิวหนังและลำไส้บางส่วน รอยตัดที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นรอยถูกของมีคมตัด โดยทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ เนื่องจากสภาพซากเน่ามาก และอวัยวะภายในเหลวเละ จนไม่สามารถระบุความผิดปกติที่ชัดเจนได้
อย่างไรก็ตาม บริเวณรอยตัดไม่พบลักษณะของปื้นเลือดออก หรือรอยช้ำใต้ชั้นผิวหนังตลอดแนวรอยตัด รวมถึงครีบด้านซ้ายที่มีเชือกรัด ไม่พบรอยช้ำ หรือลักษณะของปื้นเลือดออกใต้รอยรัด ซึ่งบ่งชี้ว่ารอยตัดที่พบเกิดขึ้นภายหลังการตายของพะยูน
พบรอบปี 2560 พะยูนตาย 15 ตัว
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เชื่อว่า เป็นฝีมือของขบวนการล่าพะยูนอย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นการจัดฉากของเจ้าหน้าที่
ขณะที่นายอับดุลร่อเหม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง ยืนยันว่า ไม่เคยพบซากพะยูนลักษณะนี้มาก่อน และมั่นใจว่าไม่ได้เกิดจากฝีมือของชาวบ้านบนเกาะลิบง แต่อาจเป็นชาวประมงจากพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้าไปหาสัตว์น้ำและพบซากของพะยูนลอยน้ำมา จึงถือโอกาสชำแหละ เพื่อนำชิ้นส่วนไปขาย
ขณะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สรุปว่าสถานการณ์พะยูน ช่วงปี 2560 พบมีการเกยตื้นตาย 15 ตัว แบ่งเป็นตจ.ตรัง 8 ตัว พังงา 3 ตัว กระบี่ 3 ตัว และระยอง 1 ตัว