แนวโน้มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่ปี 2554 มีผู้เสียชีวิต 23,390 คน และลดลงเหลือ 19,479 คน ในปี 2558 แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 22,356 คนในปี 2559 หรือเฉลี่ยวันละ 61 คน
สะท้อนให้เห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย เพราะนอกจากเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแล้ว ยังพบว่ามีผู้พิการรายใหม่กว่าปีละ 5,000 - 6,000 คน
ขณะที่สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากขับเร็ว โดยข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ขับเร็วเป็นสาเหตุหลักของคดีอุบัติเหตุเฉลี่ยร้อยละ 20-25 สอดคล้องกับกรมทางหลวง ที่ระบุว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 77 เกิดจากความเร็ว และนำไปสู่การเสียชีวิตร้อยละ 64 ซึ่งเครื่องมือตรวจจับความเร็วจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุและการเสียชีวิตลงได้
ในมุมมองของ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เพราะมีบทพิสูจน์ที่ชัดเจนจากการติดตั้งเครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้งใน 5 จุดเสี่ยง บนถนน 118 อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และถนนมิตรภาพ ช่วง 14 กม. ซึ่งพบว่าความเร็วเฉลี่ยลดลงและการเสียชีวิตลดลงด้วย แต่การใช้เครื่องดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพได้ก็ต่อเมื่อทำมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะการร่วมลงทุนในการจัดซื้อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานเอกชน
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ยังตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วของหน่วยงานที่ต้องใช้อุปกรณ์ ตั้งแต่การสำรวจความต้องการใช้งานจริง จัดทำแผนและอนุมัติการจัดซื้อ เห็นได้จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้จัดทำแผนใช้งบจำนวนมากในการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว เพราะกระทบงบประมาณโดยรวมของหน่วยงาน
ดังนั้นการจัดซื้อจึงเลือกใช้งบกลางเร่งด่วน ผ่านกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เห็นได้จากการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพาล็อตใหญ่ที่สุดมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเครื่องตรวจจับความเร็วที่หน่วยงานราชการต่างๆใช้ ยังขาดกระบวนการติดตามการใช้เครื่องมือให้มีประสิทธิภาพและประเมินความคุ้มค่าอีกด้วย