วานนี้ (6พ.ย.2560) นายกฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยในงานวิจัยข้าวป่าและการอนุรักษ์ข้าวป่าในถิ่นเดิม และนิทรรศการข้าวป่าที่ศูนย์วิจัยข้าวจังหวัดปทุมธานี โดยระบุว่า ขณะนี้ข้าวป่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากการพัฒนาประเทศ การขยายเมือง การสร้างถนน ทำให้แหล่งข้าวป่าถูกทำลาย
มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2526-2536 ปริมาณข้าวป่าในประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 23 กรมการข้าวได้รวบรวม นำเมล็ดข้าวป่า ที่เก็บรวบรวมจากแหล่งต่างๆ มาอนุรักษ์ไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ รวมทั้งดูแลรักษาแปลงอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวป่าในถิ่นเดิม เพื่อให้ข้าวป่ามีวิวัฒนาการและความหลากหลายทางพันธุกรรมต่อไป เป็นแหล่งสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวปลูกในอนาคต
สำหรับข้าวป่าคือ ข้าวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีหลากหลายชนิดโดยมีรายงานว่าทั่วโลกมีข้าวป่าอยู่ 22 ชนิดพบในประเทศไทย 5 ชนิด ได้แก่ชนิด rufipogon, nivara, officinalisridleyi granulate ในจำนวนนี้ 2 ชนิด คือรูฟิโฟก้อน และนิวารา ที่มีความสำคัญเพราะเป็นบรรพบุรุษของข้าวปลูก
ลักษณะของข้าวป่านั้น เป็นวัชพืช เมล็ดเล็ก ร่วงง่าย แต่มีลักษณะบางประการที่ไม่อาจหาได้จากพันธุกรรมข้าวปลูก คือ ความต้านทานโรคแมลง เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยวสามารถบริโภคได้ แต่ไม่นิยมส่วนใหญ่นำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว