ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

9 คำถามที่สุดกับช่างภาพ "อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ" เจ้าของเพจ "ที่ที่พ่อไป"

สังคม
11 พ.ย. 60
20:28
1,233
Logo Thai PBS
9 คำถามที่สุดกับช่างภาพ "อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ" เจ้าของเพจ "ที่ที่พ่อไป"
เปิดใจ อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ ช่างภาพและเจ้าของเพจที่ที่พ่อไป จุดเริ่มต้นที่มาจากต้องการบอกเล่าเรื่องราวให้เพื่อนในเฟซบุ๊กได้รับรู้ถึงการเดินทางไปตามรอยพระบาท ในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยอาศัยเทคนิคเดียร์ โฟโต้กราฟ ที่นำภาพในอดีตซ้อนไปกับสถานที่จริงในปัจจุบัน

 

 

จุดเริ่มต้นของการทำเพจ "ที่ที่พ่อไป" มาจากอะไร
 

มาจากการที่ไปในสถานที่ที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ไป และไปแล้วได้ภาพกลับมาเล่าอย่างไรดี จึงนึกถึงการใช้ภาพแบบ เดียร์ โฟโต้กราฟ ซึ่งเป็นการนำภาพในอดีตไปซ้อนกับสถานที่จริงในปัจจุบัน และไม่ใช่การซ้อนแค่ธรรมดา แต่ซ้อนให้รู้สึกว่าภาพอดีตกับภาพปัจจุบันเป็นภาพเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้ไปเห็นสถานที่ที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ด้วย และทำภาพมาให้เพื่อนในเฟซบุ๊กได้เห็นว่าเราไปที่ไหนมาบ้าง พอเริ่มลง 3-4 ภาพ หลายคนบอกว่าจากอัลบั้มที่เพื่อนเห็นอย่างเดียว ทำให้เป็นภาพที่เห็นสาธารณะได้มั้ย ทุกคนเห็นได้จะได้แชร์ได้ คิดอยู่พักนึง สุดท้ายก็ทำให้เป็นพับลิกแล้วกัน คนอื่นจะได้เห็นด้วย เริ่มทยอยทำมาตั้งแต่ประมาณวันที่ 24 ตุลาคม 2559 ที่ไปถ่ายภาพแรก เป็นภาพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นภาพที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงไปปลูกต้นยูงทอง บริเวณข้างโดมบริหาร ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งเป็นวันเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และเริ่มโพสต์วันที่ 25 ตุลาคม แล้วค่อยๆ ทยอยทำ โดยเริ่มจากพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ ก่อน เพราะว่ามีเวลาจำกัดในการเดินทาง ไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บ้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ้าง ตอนนั้นจะเบสที่กรุงเทพฯ ก่อน ที่โรงพยาบาลศิริราช บ้าง หลังจากนั้น หลายเดือนเหมือนกัน จึงตัดสินใจมาทำเป็นเพจ และตอนนี้เป็นเพจที่ที่พ่อไปละ

ประทับใจภาพไหนที่สุด


จริงๆ แล้วเกือบทั้งหมด คือภาพที่เลือกในตอนนี้ทำไปครบปีแล้ว ทำไปแล้ว 94 รูป ซึ่งในช่วงปีแรก พยายามเลือกภาพหรือไปในสถานที่ที่เป็นโครงการในพระราชดำริเป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากจะเป็นโครงการในพระราชดำริ หรือว่าโครงการที่ท่านทรงไปพัฒนา ถ้าภาคเหนือ ในช่วงต้นๆ ยังไม่เป็นโครงการในพระราชดำริ แต่เป็นจุดที่ท่านเดินทางไปปรับเปลี่ยนความเป็นอยู่ของประชาชน ก็จะเลือกภาพประเภทนั้นก่อน หรือภาพที่เป็นประวัติศาสตร์ที่เราเห็นบ่อยๆ ภาพที่ท่านทรงม้าไปปลูกต้นแมคคาเดเมีย ปลูกต้นบ๊วย หรือภาพที่ท่านไปที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาทั้งหลาย อยากจะเน้นพวกนั้นก่อน เพราะว่าภาพพวกนี้สามารถเล่าได้เยอะ คือว่าเราไปเห็นเอง เราอาจจะได้เจอ บางที่เราก็ได้เจอเจ้าหน้าที่ บางที่เราได้เจอกับชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น ก็ได้เห็นได้สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ท่านเสด็จพระราชดำเนินจนถึงปัจจุบัน ช่วงปีแรกจะเน้นพวกนั้นก่อน แต่ไม่ได้แปลว่าตอนนี้จะไม่เน้น แต่หมายความว่าการเดินทางขยายไกลออกไปเรื่อยๆ

สถานที่ไหนใช้ความพยายามในการเดินทางมากที่สุด


 น่าจะเป็นที่ดอยปู่หมื่น เพราะว่าที่ดอยปู่หมื่นจะมีภาพที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงไปมอบต้นชาอัสสัมต้นแรกให้คุณจะฟะ ซึ่งคุณจะฟะเป็นคุณตาของน้องริชชี่ ที่เป็นดาราช่อง 3 ตอนแรกที่ถามจากน้องริชชี่ที่เคยเจอกัน ตอนแรกนึกว่าไปง่าย แต่ว่าพอสอบถามไปทางน้าของน้องริชชี่เพื่อที่จะไป ปรากฏว่าไปยาก คือเราต้องไปให้ถึงเชียงใหม่และไปพักกับเขา เพื่อความง่ายแล้วก็นั่งรถโฟร์วีลของคนในหมู่บ้านนี้ ซึ่งทำเป็นโฮมสเตย์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของดอยปู่หมื่นอยู่แล้ว ขับรถพาขึ้นไป และทางที่พาขึ้นไปเป็นถนนลาดยางเลนเดียวและเป็นทางแคบ แทบจะสวนกันไม่ได้ ซึ่งยากจริง เพราะถ้าเกิดไม่ได้นัดแนะหรือว่าเตรียมความพร้อมขึ้นไปก่อน คือขึ้นไปยากมาก ซึ่งน่าจะยากที่สุดในการเดินทางไปเอง หรือใครที่จะตามไป อันนี้ยากจริง

 

มีสถานที่ไหนเลือกแล้วแต่ไม่ได้ไป

บอกว่ายังไม่ได้ไปจะดีกว่า ซึ่งยังมีอีกเยอะ ด้วยความที่ใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ หรือหยุดยาว ฉะนั้น ปีนึงไม่ได้ไปหยุดยาวบ่อย เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องเลือกว่าจะไปที่ไหนกับการบริหารเวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ ถ้าเกิดเป็นจังหวัดไกลๆ ก็ต้องใช้เวลาเยอะหน่อย ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาได้ไปไม่เท่าไหร่ ก็ไปพอสมควร ไม่เยอะมาก ไปเชียงราย เชียงใหม่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครปฐม แต่ยังมีอีกเยอะ เพราะทั้งหมดที่ผมไปตอนนี้ 18 จังหวัด กับอีก 2 ประเทศ คือมาเลเซียกับญี่ปุ่น เช่น เสาร์-อาทิตย์ก็เพิ่งไป แต่ไปจังหวัดซ้ำ ไปประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าจะไปจังหวัดที่เหลือให้ได้อีกสมควร จะไปจังหวัดไม่ซ้ำกันก่อน อย่างเช่น นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และทั้งอีสานเหนือ อีสานใต้ พยายามจะไปจังหวัดที่เหลือให้ได้เยอะ ก็ไม่แน่ใจว่าอีกปีนึงจะได้อีกกี่จังหวัดเหมือนกัน

 

ดูจากภาพแล้ว คิดว่าภาพไหน ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีความสุขที่สุด

ผมว่าท่านมีความสุขทุกที่แหละ แต่ว่าถ้าในมุมมองของผมนะ ผมรู้สึกว่าภาพเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ภาพที่ท่านเสด็จฯ ออกมหาสมาคมที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนร่วมใจกันเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรารักในหลวงมากที่สุดภาพนึง คิดว่าเป็นอย่างนั้นนะ แต่ผมคิดว่าทุกภาพที่ท่านไปท่านมีความสุขหมดแหละ เพราะว่าท่านไปเพื่อจะทำให้ราษฎรมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มันเป็นไปได้ทุกภาพ

ภาพใฝ่ฝันที่สุดที่อยากถ่าย


ไม่มีภาพไหนที่อยากถ่ายสูงสุดครับ แต่ทุกภาพในทุกภาคที่พระองค์เสด็จฯ มีความสำคัญเท่าๆ กัน ก็เลยอยากไปถ่ายและบันทึกความทรงจำในทุกๆ ภาคที่พระองค์เสด็จฯ ครับ

 

มีอีกหลายภาพที่อยากถ่ายหรือไม่

เยอะมาก จริงๆ แล้วต้องบอกว่าก็คือเป้าหมายตอนนี้คือไปให้ครบทุกจังหวัดก่อน แล้วก็มาเลือกต่อว่าภาพไหนที่เป็นภาพการทรงงานของพระองค์ที่ทำให้เห็นถึงความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายของพระองค์ ก็คือภาพที่ท่านทรงนั่งกับพื้น ภาพที่ท่านพบพสกนิกรเยอะๆ หรือเป็นภาพที่ทำให้เกิดพระราชดำริหรือว่าโครงการทั้งหลาย ก็จะคัดจากภาพพวกนั้นก่อน อย่างเมื่ออาทิตย์ก่อนไปเห็นภาพที่ท่านไปที่ตรวจเรื่องน้ำดีไล่น้ำเสีย ก็เจอภาพจากหนังสือสำนักงาน ก.ป.ร.ก็ไปตามหาอยู่ 2-3 รอบ คือภาพที่ไหน นี่ขนาดในกรุงเทพฯ ยังหายาก ถึงแม้ว่าในหนังสือจะบอกไว้บ้างว่าเป็นบริเวณสถานีสูบน้ำเทเวศร์ คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว แต่ว่าแค่บอกแค่นี้ก็กว้างมาก แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือว่าในภาพนี้มีงานพระราชดำริของพระองค์อยู่ว่าท่านไปทำอะไร ก็จะเลือกภาพที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือหลักคิดที่มาจากพระราชดำริของพระองค์เป็นหลัก นอกเหนือจากนั้นจะเป็นภาพประทับใจทั้งหลาย เช่น ที่ท่านทรงไปสรงน้ำ ไปน้ำตก ซึ่งเป็นภาพที่ทุกคนเห็นแล้วประทับใจ ก็จะเป็นส่วนเสริม

 

คำสอนของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งน้อมนำมาใช้ในชีวิต


เยอะครับ จริงๆ บอกหลายสื่อแล้วละ เป็นพระราชดำรัสที่นำไปใช้ได้ ไม่ใช่แค่ผมด้วยแหละ คือผมประทับใจและทุกคนใช้ได้ ก็คือท่านมีพระราชดำรัสตอนที่ท่านทรงเรือใบ ท่านบอกว่า “เวลาที่เราแล่นเรือใบ เราต้องคิดเองทำเอง เพราะว่าเวลาที่เราอยู่บนเรือใบไม่มีใครมาช่วยเราได้ ในการที่เราจะไปถึงจุดหมาย เราจะต้องทำยังไงก็ตามด้วยความสามารถที่เรามี เพื่อไปให้ถึงจุดหมายให้ได้ แล้วเราต้องรู้ว่าถ้าเกิดว่ามีลม เราควรจะหันเรือใบไปทางไหน ถ้าไม่มีลม เราควรจะหยุดอยู่ยังไง” เราก็คิดว่าใช้ได้ในชีวิตจริงเลย เพราะในพระราชดำรัสนั้น ท่านบอกว่าพระราชดำรัสนี้เหมาะกับเยาวชนที่จะต้องฝึกให้เขารู้จักที่จะคิดเองทำเอง คือว่าให้ฝึกตั้งแต่เป็นเยาวชน ซึ่งถ้าเยาวชนสามารถคิดเองทำเองได้ตั้งแต่เป็นเด็กๆ ผมเลยตีความต่อว่าพอโตขึ้น เขาไม่ต้องไปพึ่งพา คิดแต่จะพึ่งพาคนอื่น แต่ว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้ คือถ้าเราทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้ เราไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เราก็สามารถมีชีวิตได้แบบที่ไม่ต้องเอาชีวิตไปผูกติดกับคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่อ่านแล้วซึมซับได้ เอาไปใช้ได้ และใครๆ เอาไปใช้ได้เหมือนกัน

 

แผนงานในอนาคตอยากทำอะไรต่อ


อยากจะทำให้กลายเป็นเว็บไซต์ แอพพลิเคชัน และหนังสือ อยากให้แผนที่ เป็นจุดที่อยู่บนแผนที่ สมมติใครโหลดแอพพลิเคชันนี้ไป พอเปิดขึ้นมาจะบอกเลยว่าในระยะ 30 กิโลเมตร 50 กิโลเมตร มีจุดที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ตรงไหนบ้าง เพราะจุดพวกนี้เป็นประวัติศาสตร์ของชาติ ผมรู้สึกว่าในมุมชีวิตผมเนี่ยทุกที่ที่พระองค์ท่านเสด็จฯ คือประวัติศาสตร์แล้วผมคิดว่าประวัติศาสตร์อย่างนี้ไม่ควรจะหายไปตามกาลเวลา เราควรจะต้องรู้ว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ท่านเสด็จฯ ทุกจังหวัด จังหวัดนึงเป็น 10 ครั้ง บางจังหวัดเป็น 10-20 ครั้ง ท่านเคยไปตรงไหนมาบ้าง อาจจะไม่ได้ทั้งหมดของจุดที่ท่านเสด็จฯ จุดสำคัญที่ท่านเคยเสด็จฯ ผมคิดว่าเราควรจะรู้ว่าท่านเคยเสด็จฯ ตรงนี้ แล้วเสด็จฯ ไปทำอะไร ซึ่งแอพพลิเคชันที่จะทำ หรือว่าเป็นหนังสือ หรือเป็นเว็บไซต์ ก็อยากพยายามรวบรวมทั้งจุดที่ท่านเคยเสด็จฯ และสิ่งที่ท่านทำ ซึ่งหากจะทำต้องทำทั้งหมดแล้วลิงก์เข้าหากัน เช่น ในหนังสืออาจจะมีคิวอาร์โค้ด หรือในแอพพลิเคชัน กดไปที่รูปแล้วกลับมาที่เว็บไซต์ ต้องคล้องจองกันทั้ง 3 ส่วน เป็นเป้าหมายต่อไป แต่ว่าอาจจะต้องรอก่อน ภาพที่ได้มาตอนนี้ยังไม่ได้เยอะพอ อาจจะสักครึ่งปี – 1 ปี จึงจะเห็นรูปร่างที่ชัดเจน ให้ได้เยอะกว่านี้อีกหน่อย ให้ความเยอะของภาพกระจายไปอยู่ในจังหวัดที่เยอะกว่านี้

 เรื่อง มีนา  บุญมี ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง