กรณีกลุ่ม siamensis.org เผยแพร่ร่ายงานพบ "หนอนตัวแบนนิวกินี" กำเนิดในนิวกินีและออสเตรเลีย และถูกจัดอันดับจากสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือไอยูซีเอ็น เป็น 1 ใน 100 สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก โดยพบระบาดในกว่า 20 จังหวัดแล้ว
วันนี้ (14 พ.ย.2560) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส. กล่าวว่า หนอนตัวแบนนิวกินี ถูกจัดอยู่ในบัญชี 4 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรายงานการค้นพบมาก่อน เบื้องต้นได้ส่งหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เฝ้าระวังแล้ว
ขณะเดียวกันยังได้พูดคุยนอกรอบ กับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมจะแถลงข่าวปัญหาหนอนตัวแบนนิวกินี เอเลียนสปีชีส์ พร้อมกันภายในสัปดาห์นี้ เพราะไม่อยากให้มีเพียงหน่วยงานใดที่ออกมาพูดกับสื่อ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องทางวิชาการ ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน รวมทั้งจำเป็นต้องมีแผนแก้ปัญหาร่วมกัน หากพบมีการระบาดในประเทศไทยจริง
ยอมรับว่าการหาที่มาและใครที่นำเอาหนอนตัวแบนนิวกินีเข้ามาเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคือการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกว่ามีการระบาดในจุดไหนบ้าง ถ้าถึงขั้นเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่รุกรานต่อระบบนิเวศแล้วก็พร้อมที่จะปรับบัญชีใหม่ ส่วนข้อเสนอให้มีการออกกฎระเบียบให้ประชาชนต้องกำจัดหนอนเอเลียนตัวนี้ ยังต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหารือกันภายใต้คณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพ
พบการระบาดใน 20 จังหวัดทั่วไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบข้อมูลการค้นพบหนอนเอเลียนผ่านทาง เฟซบุ๊ก siamensis.org ซึ่งหลังจากมีรายงานแห่งแรกที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี ล่าสุดมีผู้แจ้งข้อมูลการเจอตัวหนอนเอเลียน ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทยผ่านทางเฟซบุ๊กกลุ่ม siamensis.org เบื้องต้น 20 จัง หวัดแล้ว เช่น จาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ อุบลราชธานี เลย ชลบุรี ปทุมธานี ชุมพร แถวกรุงเทพกรีฑา -มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เขตห้วยขวาง ดอนเมือง กทม. เพชรบุรี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สระบุรี ภูเก็ต ปราจีนบุรี นราธิวาส เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ยังถูกยกเลิกนัดสัมภาษณ์นางอัษฎาพร ไกรพานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ที่ขอนัดสัมภาษณ์พิเศษนโยบายการแก้ปัญหาเอเลียนสปีชีส์ในภาพรวมของประเทศ และการปรับบัญชีใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ขอยกเลิกกะทันหันหลังทีมข่าวไปรอสัมภาษณ์ตามนัดหมายนานกว่า 1 ชั่วโมง โดยระบุว่าผู้บริหารระดับสูง ขอให้รอผู้ใหญ่ในกระทรวงที่จะมีการแถลงข่าวภาพรวมทั้งหมดเอง
กังวลกำจัดผิดวิธียิ่งเพิ่มความแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ เฟชบุ๊กของ Yingyod Lapwong ยังนำเสนอข้อคิดเห็นผ่านทางโซเชียล หลังจากพบว่ามีการทำลายหนอนเอเลียน โดยระบุว่า ขออนุญาตเสนอให้หยุดการกำจัดหนอนตัวแบนนิวกีนี ไม่ว่าจะด้วยการใช้น้ำร้อน หรือใช้เกลือ ด้วยเหตุผล
1. เอเลียนไม่ได้ร้ายไปซะทุกตัว เราอาจได้ยินข่าวเรื่องสัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามาทำอันตรายระบบนิเวศในบ้านเราอยู่บ่อยๆ แต่อันที่จริงแล้วเอเลี่ยนไม่ได้ร้ายไปซะทุกตัว มีสัตว์เอเลียนจำนวนไม่น้อยที่สร้างผลกระทบในเชิงบวกให้กับบ้านใหม่ของพวกมัน ในกรณีนี้ทราบกันดีว่ามันสามารถกำจัดหอยทากที่เป็นศัตรูพืช
2. เอเลียนรุกรานที่หนึ่ง อาจไม่ได้รุกรานอีกที่หนึ่ง เนื่องจากระบบนิเวศแต่ละที่มีความต้านทานต่างกัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า แม้หนอนชนิดนี้จะถูกพบแล้วในหลายพื้นที่ของโลก แต่รายงานผลกระทบรุนแรงมาจากหมู่เกาะแปซิฟิกเท่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่หมู่เกาะมีความเปราะบางกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากมีสัตว์เฉพาะถิ่นจำนวนมาก และไม่เคยมีผู้ล่า ทำให้การปรับตัวมีน้อย ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่สัตว์ชนิดนี้จะไม่สร้างผลกระทบในทางลบในบ้านเรา
3. การกำจัดสัตว์เอเลียนอย่างไม่เป็นระบบ อาจไปเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับพวกมันเสียอีก ในทางนิเวศวิทยาแล้ว หากประชากรสิ่งมีชีวิตถูกกดดัน มันจะมีวิวัฒนการเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันนั้นๆเพื่อให้อยู่รอด และแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในบางกรณี ข้อจำกัดในการรุกรานของสัตว์ต่างถิ่น คือการแข่งขันระหว่างกันเอง การแข่งขันที่รุนแรงจะทำให้ประชากรอ่อนแอ และทำความเสียหายได้น้อยลง การลดปริมาณแต่น้อย จะไปลดการแข่งขันนั้น ทำให้ประชากรมีความแข็งแรงขึ้น การกำจัดด้วยมือนั้น จะได้ผลในกรณีที่สัตว์ดังกล่าวเพิ่งเข้ามา หรือในพื้นที่จำกัด โดยจะต้องมีการวางแผนการกำจัดที่เข้มข้น และอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ การกำจัดด้วยมือแบบนี้ไม่ได้ทำเพื่อลดปริมาณโดยตรง แต่เพื่อลดความหลากหลายทางพันธุกรรม จนทำให้ประชากรอ่อนแอลง
4. ผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องถิ่น เนื่องจากว่าบุคคลทั่วไปอาจไม่มีความสามารถในการจัดจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิต การกำจัดผิดตัวจึงเกิดขึ้นได้ และเมื่อประกอบกับความวิตกกังวล ยิ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนก สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นอาจจะตกอยู่ในอันตราย สุดท้ายแล้วผลกระทบจากการกำจัดผิดตัวโดยมนุษย์อาจรุนแรงกว่าที่เกิดจากสัตว์เอเลียนเสียอีก
หากลองสังเกตดู จะทราบว่าแม้แต่ในที่ที่มีการระบาด และเกิดผลกระทบรุนแรง ก็ไม่มีการใช้วิธีการกำจัดด้วยมือ การโรยเกลือ หรือใช้น้ำร้อน ด้วยเหตุผลที่ว่าการใช้วิธีการกำจัดด้วยมือ ไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่ว่าในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นใดๆ